คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1723/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุคคลใดได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2482 แล้ว หากประสงค์จะย้ายโรงงานนั้นไปสถานที่อื่น ก็ต้องขออนุญาตตั้งใหม่ จะใช้ใบอนุญาตตั้งโรงงานสำหรับสถานที่เก่าไม่ได้ มิฉะนั้นย่อมมีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันตั้งโรงงานสีขาวเครื่องจักร และเปิดโรงงานรับจ้างสีข้าวไทยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๓,๖,๙,๑๙,๒๓ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๗,๑๒ พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๔๘๒ บังคับแก่โรงงานทุกชนิดในท้องที่บางจังหวัด พ.ศ. ๒๕๐๐ มาตรา ๓ ข้อ ๑๔ และสั่งให้โรงงานจำเลยทำการตลอดเวลาที่ยังมิได้รับอนุญาต หรือหนังสืออนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธความผิด ว่ามีใบอนุญาตตั้งโรงสีแล้ว แต่ต่อมาได้ย้ายโรงสีไปที่อื่น ยังไม่ได้รับใบแทนใบอนุญาตเดิม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ ๒ ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานสีข้าว และได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ ส่วนจำเลยที่ ๑ ดำเนินการแทนจำเลยที่ ๒ ต่างไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โรงงานเป็นอสังหาริมทรัพย์ ไม่อาจเคลื่อนย้ายไปแห่งอื่นได้ กฎหมายจึงมิได้บัญญัติถึงการย้ายโรงงานไว้ จำเลยทั้งสองมีความผิด พิพากษากลับ โดยให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๓,๖,๙,๑๙,๒๓ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๗,๑๒ ปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาท และให้หยุดโรงงานตลอดเวลาที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๔๘๒ มีความมุ่งหมายควบคุมโรงงานดังจะเห็นได้จากที่บัญญัติให้ผู้ขอตั้งโรงงานส่งแผนผังแสดงบริเวณโรงงานพร้อมด้วยรายการติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งรัฐมนตรีอาจกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ในใบอนุญาตก็ได้ตามที่เห็นจำเป็น และเมื่อโรงงานพร้อมจะเปิดดำเนินงาน ก็ให้เจ้าของโรงงานแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตและตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ นอกจากนี้ยังให้อำนาจรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงกำหนดเขตท้งที่ตั้งโรงงานและอื่น ๆ ฉะนั้น การตั้งโรงงาน ณ สถานที่ใด จึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย มิใช่จะกระทำได้ตามใจชอบ การที่จำเลยย้ายโรงงานสีข้าวเครื่องจักรโดยถือใบอนุญาตสำหรับสถานที่เก่าไปแห่งใหม่ โดยยังไม่มีใบอนุญาตสำหรับสถานที่ใหม่ จึงมีความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
พิพากษายืน

Share