แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และ ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ สิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน ถ้าผู้ร้องทุกข์ตายสิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้เสียหายซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายจึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา และเมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2541 เวลากลางวัน นางวิรัตน์ ยอดยิ่ง ผู้เสียหายมอบเงิน 150,000 บาท ให้จำเลยนำไปประกันตัวนายดา ยอดยิ่ง สามีผู้เสียหายที่ศาลจังหวัดจันทบุรี ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยได้รับเงินประกันดังกล่าวคืนเนื่องจากขอถอนประกันนายดา จากนั้นถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเบียดบังเอาเงินประกันดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยไปเป็นประโยชน์ของตนเองโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 150,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูกเป็น มาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 150,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงเชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา นายดา ยอดยิ่ง ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องและบรรดาทายาททุกคนของผู้เสียหายได้ตกลงกับจำเลยแล้ว ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป และถอนคำร้องทุกข์ คดีจึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้เสียหายมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งมาตรา 356 ได้บัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ และการถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ สิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวทรัพย์สิน กรณีผู้ร้องทุกข์ตายสิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท เมื่อได้ความตามคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ว่าบรรดาทายาททุกคนได้ตกลงกับจำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปและขอถอนคำร้องทุกข์ ดังนั้น ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้เสียหายซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย จึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา และเมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ก็ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)”
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี.