แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนิติบุคคลฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แล้วโจทก์ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย แม้จะถือว่าโจทก์สิ้นสภาพบุคคลก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่า ในคดีอาญานั้นเมื่อโจทก์สิ้นสภาพบุคคลหรือตายแล้ว ให้คดีอาญาระงับไปคงมีแต่คดีอาญาเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 และมาตรา 39 กับคดีอาญาเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 เท่านั้น คดีนี้เป็นคดีอาญาอยู่ระหว่างรอการอ่าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังมีผลบังคับอยู่ จะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 132 (3) มาใช้บังคับมิได้ เมื่อโจทก์มิได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ หรือมีเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ และจำเลยทั้งสอง มิได้นำเงินตามจำนวนในเช็คมาชำระภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับหนังสือจากผู้ทรงว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คหรือมูลหนี้ที่ออกเช็คสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลจำหน่ายคดีหาได้ไม่
สำหรับปัญหาการส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์กรณีที่โจทก์ไม่มีตัวตน หรือไม่มีผู้เข้าดำเนินคดีแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 201 ประกอบมาตรา 216 ก็ได้บัญญัติแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ (๔) ให้ปรับจำเลยที่ ๑ จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ให้จำคุก ๑ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ต่อมาศาลชั้นต้นหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ก่อนถึงวันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผู้ชำระบัญชีได้ชำระบัญชีเสร็จสิ้นและยื่นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ และพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ ถือได้ว่าการชำระบัญชีได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ก่อนยื่นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด ถือไม่ได้ว่าบริษัทโจทก์ยังคงตั้งอยู่เพื่อชำระบัญชี บริษัทโจทก์จึงสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ถือว่าโจทก์ไม่มีตัวตน ไม่มีผู้เข้ามาในคดีนี้เพื่อดำเนินคดีแทนโจทก์อีกต่อไป ขอให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ และต่อมาจำเลยทั้งสองขอเลื่อน การฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หลายครั้ง ศาลชั้นต้นจึงส่งคำร้องขอให้จำหน่ายคดีไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องไว้เป็นอันระงับไปไม่ และในเรื่องที่ว่าจะต้องมีผู้ดำเนินคดีต่อไปนั้น เมื่อคดีได้ดำเนินมา จนเสร็จการพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษาแล้วเช่นนี้ ย่อมสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อได้ไม่มีเหตุจะจำหน่ายคดี ให้ยกคำร้อง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ ถึงมาตรา ๒๕ เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์แล้ว กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตน โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ รวมทั้งการดำเนินคดีฟ้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้นและถึงแม้โจทก์สิ้นสภาพบุคคลและเป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ก็ตาม ก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าในคดีอาญานั้น เมื่อโจทก์สิ้นสภาพบุคคลหรือตายแล้วให้คดีอาญาระงับไปไม่ คงมีแต่คดีอาญาเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๙ กับคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ เท่านั้น คดีนี้เป็นคดีอาญาอยู่ระหว่างรออ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ยังอยู่จะนำ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๒ (๓) มาใช้บังคับมิได้ เมื่อโจทก์มิได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันหรือมีเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ และจำเลยทั้งสองมิได้นำเงินตามจำนวนในเช็คมาชำระภายในสามสิบวัน นับแต่ได้รับหนังสือจากผู้ทรงว่าธนาคารไม่ใช่เงินตามเช็คหรือมูลหนี้ที่ออกเช็คสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลจำหน่ายคดีหาได้ไม่
สำหรับปัญหาการส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์กรณีที่โจทก์ไม่มีตัวตนหรือไม่มีผู้เข้ามาดำเนินคดีแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐๑ ประกอบมาตรา ๒๑๖ ก็ได้บัญญัติแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องและให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน .