แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้เครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 1 แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นบุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้ เพราะการที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 มีข้อแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการ ทั้งลักษณะของรูปช้างและส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “TUSCO TRAFO” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับรูปช้าง จึงเป็นจุดเด่น นับได้ว่าเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าและอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ตราช้างทัสโก้ หรือตราทัสโก้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีส่วนสำคัญที่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยง่ายเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบด้วยมาตรา 13
คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ที่ 659/2543 และคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ที่ 169/2541 และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล หากไม่ปฏิบัติตามโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 และขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ทำคำวินิจฉัยของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า การทำคำวินิจฉัยเป็นการกระทำเฉพาะตัวผู้กระทำซึ่งได้รับการแต่งตั้ง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ทำคำวินิจฉัยโดยสุจริต ชอบด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิอ้างเพื่อให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า การค้า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 9 รายการสินค้าหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาดำเนินการเพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1 ต่อไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปช้างของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 จะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกัน แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นบุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้ การที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นได้ว่ามีข้อแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการ ทั้งลักษณะของรูปช้างและส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีรูปลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “TUSCO TRAFO” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับรูปช้าง จึงเป็นจุดเด่น นับได้ว่าเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า และอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ตราช้างทัสโก้ หรือตราทัสโก้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยง่ายเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบด้วยมาตรา 13
คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท นั้น จึงไม่ถูกต้อง แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เมื่อเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความทั้งสองชั้นศาลรวม 4,500 บาท แทนจำเลยทั้งสิบเอ็ด.