แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินตราต่างประเทศ ที่เกินกว่า 1000 บาท ซึ่งจำเลยพยายามนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 และตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉะบับที่ 9) 2482 ด้วย จึงเป็นของต้องริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉะบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยสมคบกันพยายามนำเงินตราต่างปรเทศ ประเทศอินโดจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เป็นจำนวน ๑๐๐๐๐ เหรียญ เป็นราคาเงินไทย ๖๒๕๐ บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดให้นำติดตัวเข้ามาได้ ๕๒๕๐ บาท ขอให้ลงโทษและริบของกลางจำเลยที่ ๑ ต่อสู้ว่า เงินของกลางเป็นของจำเลย ๑๐๐๐ เหรียญ จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่า เงินของกลางเป็นของจำเลย ๙๐๐๐ เหรียญ เมื่อถึงท่าด่านศุลกากรเจ้าพนักงานด่านตรวจถาม จำเลยก็นำออกแสดงทันทีแต่เจ้าพนักงานจับจำเลยโดยไม่ให้โอกาศจำเลยขออนุญาตนำเงินส่วนที่เกินกำหนดนั้นเสียก่อน ศาลชั้นต้นฟังคดีสมข้อต่อสู้จำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ฟังว่าได้พยายามนำเงิน ๙๐๐๐ เหรียญเข้ามาในราชอาณาจักรจริง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร และ พ.ร.บ.ศุลกากรและ ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๖๑ แต่จำเลยเป็นเด็กอายุ ๑๒ ปี ให้ว่ากล่าวภาคทัณฑ์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้อง ธนบัตรของกลาง ๑๐๐๐ เหรียญให้คืนจำเลยที่ ๑ นอกนั้นให้ริบฉะเพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวน ๑๐๐๐ บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ มีผิดตามมาตรา ๒๗ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร ๒๔๖๙ ด้วย และตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉะบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ บัญญัติว่า “ของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๗ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ประกอบด้วย มาตรา ๑๖ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉะบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านให้ริบเสียทั้งสิ้นโดยมิพักต้องคำนึงว่าบุคคลใดจะต้องรับโทษหรือหาไม่” ดังนี้ เงินตราต่างประเทศของกลางรายนี้ จึงเป็นของต้องริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉะบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗.
พิพากษายืน.