คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ตกลงยกเงินฝากประจำส่วนหนึ่งอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์จำนวน 7,500,000 บาท ซึ่งอยู่ในบัญชีเงินฝากที่โจทก์ยอมให้จำเลยมีชื่อร่วมให้แก่จำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1469 บัญญัติให้สิทธิสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ภายในเวลาที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่การบอกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อโจทก์บอกล้างนิติกรรมให้เงิน 7,500,000 บาท ต่อจำเลยแล้วในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกันอยู่ การบอกล้างดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวอันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในระหว่างสมรสโดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม โดยเหตุแห่งการบอกล้างนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ให้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ไม่พอใจจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยได้ จึงไม่ใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับโจทก์อย่างร้ายแรงขนาดเดือดร้อนเกินควร และจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี ก่อนฟ้องคดีโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า บอกล้างนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทุกประเภทและให้คืนสินส่วนตัวให้โจทก์ จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้วขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้จำเลยคืนสินส่วนตัวสมุดบัญชีเงินฝากประจำและเงินฝากประจำของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน บัญชีเลขที่ 047-2-121778 จำนวนเงิน 17,695,351.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากถึงวันที่ส่งเงินคืนแก่โจทก์ โดยไปถอนการอายัดและลงชื่อถอนเงินให้โจทก์ตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารร่วมกับโจทก์ หากจำเลยไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ขอออกสมุดเงินฝากประจำเล่มใหม่และแสดเจตนาถอนเงินแทนจำเลยหากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยคืนสินส่วนตัว สร้อยคอทองคำสุโขทัยหนัก 6 บาท พระเครื่องสมเด็จวัดปากน้ำรุ่น 7 เลี่ยมทองสามชั้นหนัก 1 บาท พระผงสุพรรณเลี่ยมทองหนัก 1 บาท พระสมเด็จวัดระฆังรุ่นใหม่เลี่ยมทองหนัก 2 บาท สร้อยข้อมือทองคำสลักชื่อโจทก์หนัก 2 บาท นาฬิกาข้อมือยี่ห้อเซนิท 2 เรือน หากรายการใดจำเลยไม่คืนให้ชดใช้เงินตามราคาประเมินราคาทรัพย์สินแต่ละรายการแก่โจทก์ ให้จำเลยแบ่งสินสมรสโฉนดที่ดินเลขที่ 137137 พร้อมทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น 1 คูหา เลขที่ 99/81 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยการประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยก่อน ถ้าหากโจทก์หรือจำเลยไม่สามารถประมูลได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวขายทอดตลาดนำเงินแบ่งแก่โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์ยกเงินฝากประจำจำนวน 17,695,351.86 บาท ให้แก่จำเลย ส่วนพระเครื่อง พระผงสุพรรณและสร้อยคอทองคำเป็นสินสมรส สร้อยข้อมือจำเลยไม่ได้เก็บรักษาไว้ จำเลยเก็บเพียงนาฬิกาของโจทก์ นอกนั้นเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา โจทก์เรียกคืนได้เฉพาะนาฬิกาและโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนสินส่วนตัว สมุดบัญชีเงินฝากประจำและเงินฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน บัญชีเลขที่ 047-2-121778 จำนวนเงิน 15,561,205.48 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยไปถอนการอายัดและลงชื่อถอนเงินให้โจทก์ตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารร่วมกับโจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาขอออกสมุดบัญชีเงินฝากประจำเล่มใหม่และแสดงเจตนาถอนเงินแทนจำเลยและให้จำเลยคืนนาฬิกาข้อมือยี่ห้อเซนิท 2 เรือน ให้แก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 โดยไม่มีบุตรด้วยกัน ก่อนจดทะเบียนสมรส โจทก์ได้รับมรดกที่ดินจากบิดามารดา ต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินมรดกแล้วนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 047-2-121778 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน ซึ่งเปิดบัญชีร่วมระหว่างโจทก์และจำเลยตามคำขอเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2539 เอกสารหมาย จ.2 โดยเงินฝากในบัญชีดังกล่าวมียอดต้นเงินฝากสุทธิ 15,561,205.48 บาท อันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2543 คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า โจทก์ให้เงินสินส่วนตัวดังกล่าวแก่จำเลยเป็นจำนวนเงิน 7,500,000 บาท และโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมการให้เงินจำนวนนี้ต่อจำเลยแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมให้เงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้ทรัพย์ต่อจำเลย เห็นว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยมีชื่อร่วมในบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 047-2-121778 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน ซึ่งยื่นคำขอเปิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2539 ระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นคู่สมรสกันอยู่ โดยโจทก์แถลงรับว่าโจทก์ตกลงยกเงินฝากที่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ในบัญชีดังกล่าวจำนวน 7,500,000 บาท ให้แก่จำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 บัญญัติให้สิทธิสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ภายในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่การบอกล้างดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันต่อมาว่า โจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมให้เงินจำนวน 7,500,000 บาท ต่อจำเลยแล้ว ซึ่งการบอกล้างดังกล่าวเป็นการกระทำในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกันอยู่ การบอกล้างดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรสโดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม โดยเหตุแห่งการบอกล้างนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ให้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ไม่พอใจจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share