แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ทุนทรัพย์ที่จะพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 25 หมายถึง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลภาษีอากร หาใช่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มจากจำเลยรวมเป็นเงิน 49,680 บาท แม้จะระบุจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็นจำนวน 58,788 บาท ก็ตาม ทุนทรัพย์ที่พิพาทคือ 49,680 บาท มิใช่ 58,788 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีป้ายพร้อมเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 49,680 บาท กับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีป้ายที่ค้างจำนวน 41,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีป้ายพร้อมเงินเพิ่มตามฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 49,680 บาท กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีป้ายที่ค้างชำระจำนวน 41,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มจากจำเลยรวมเป็นเงิน 49,680 บาท จึงเป็นคดีที่จำนวนทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะระบุจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็นจำนวน 58,788 บาท ก็ตาม แต่ทุนทรัพย์ที่จะพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 หมายถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลภาษีอากร หาใช่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่ ทั้งเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันฟ้องก็ไม่อาจนำมารวมคิดเป็นทุนทรัพย์ได้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของป้ายและไม่มีสิทธิรื้อถอนป้ายเพราะป้ายตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วตามสัญญา อีกทั้งโจทก์ได้ให้สิทธิบริษัทอื่นใช้ป้ายโฆษณาไปแล้ว เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลภาษีอากรกลางจะรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ไว้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลย…”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาในปัญหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของป้ายหรือไม่แล้วพิพากษาใหม่