คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3707/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์นั้นศาลพิพากษาวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินของจำเลยส่วนที่อาคารโจทก์ปลูกรุกล้ำโดยไม่ได้จดทะเบียนการเช่าจึงมีผลใช้บังคับได้เพียง3 ปี และพ้นกำหนด 3 ปี แล้ว โจทก์จึงต้องออกจากที่ดินพิพาทแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าโจทก์ได้ปลูกสร้างอาคารพิพาทโดยสุจริตและได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยตลอดมา ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภารจำยอม ข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามฟ้องโจทก์มุ่งไปที่เรื่องการสร้างโรงเรือนลุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต และได้ภารจำยอมโดยโจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนและมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลย จึงเป็นคนละเหตุกับคดีก่อนซึ่งเป็นเรื่องเช่าทรัพย์และกรณีนี้ มิใช่เรื่องที่เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกันหรือติดต่อกันมาจากเรื่องเช่าทรัพย์ซึ่งโจทก์จะต้องยกขึ้นอ้างหรือต่อสู้เสียในคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1674 ร่วมกับนางลักษณา นำไพศาล เมื่อประมาณต้น พ.ศ. 2497โจทก์ได้ปลูกอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน 3 ห้อง ลงบนที่ดินกล่าวเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับนางลักษณา ครั้น พ.ศ. 2513โจทก์ได้แบ่งที่ดินให้นางลักษณา จำนวน 73 เศษ 2 ส่วน 10 ตารางวาตามโฉนดเลขที่ 3052 พร้อมอาคารไม้ชั้นเดียวเลขที่ 253 และอาคารตึก1 ชั้น ดาดฟ้าคอนกรีตจำนวน 1 ห้อง จากการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นเหตุให้อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน 2 ใน 3 ห้อง ที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้น รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 3052 ของนางลักษณาโจทก์ได้ยึดถือครอบครองโดยสงบและเปิดเผยตลอดมา ต่อมาประมาณเดือนมกราคม 2522 นางลักษณาได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3052 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้นายฮ่วน ทุ่งสี่ ครั้นนายฮ่วน ถึงแก่กรรมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นมรดกได้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตร เมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2532 จำเลยกับพวกได้ทำการรื้อถอนอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้2 ห้อง ดังกล่าวของโจทก์ เฉพาะชั้นบนด้านที่ติดกับอาคารของจำเลยและทำการรื้อถอนฝาผนังบ้าน กระเบื้องหลังคา บานประตูและหน้าต่างทำให้โจทก์เสียหายทั้ง ๆ ที่การปลูกสร้างอาคารของโจทก์กระทำโดยสุจริต ขอศาลบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 3052 เฉพาะส่วนที่อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ห้อง ของโจทก์รุกล้ำเข้าไป โดยให้ศาลกำหนดค่าที่ดินตามราคาท้องตลาดที่เห็นสมควรหากจำเลยไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3052 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจากคำฟ้อง คำให้การและคำแถลงรับของคู่ความฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์และนางลักษณา นำไพศาลเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1674 ตำบลในเวียงอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2513 ได้มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมกันโดยแบ่งแยกออกเป็นสองโฉนดคือ โฉนดเลขที่ 1674ซึ่งเป็นโฉนดเดิม และโฉนดเลขที่ 3052 ซึ่งเป็นที่ดินแบ่งแยกออกมาจากโฉนดเดิม ที่ดินตามโฉนดเดิมเลขที่ 1674 เป็นของโจทก์ส่วนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3052 เป็นของนางลักษณา เมื่อแบ่งแยกกันแล้วปรากฏว่ามีอาคารสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 3052 ของนางลักษณา ครั้น พ.ศ. 2522 นางลักษณาได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3052 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายฮ่วน ทุ่งสี่เมื่อซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนางลักษณาแล้วนายฮ่วนได้ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินของนายฮ่วน ซึ่งซื้อมาจากนางลักษณา โจทก์ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายฮ่วน โจทก์ตกลงเช่าที่ดินพิพาทจากนายฮ่วนเป็นเวลา 5 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่าปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 217/2522 ของศาลชั้นต้นต่อมานายฮ่วนตาย ที่ดินพิพาทตกเป็นมรดกได้แก่จำเลย จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าสัญญาเช่าไม่ได้จดทะเบียนมีผลเพียง 3 ปี และพ้นกำหนด 3 ปี แล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าว แต่อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านในประเด็นที่ว่าสัญญาเช่าบังคับกันได้ 2 ปีหรือ 5 ปี ซึ่งศาลฎีกาเห็นชอบด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าบังคับกันได้ 3 ปี รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3359/2530 ได้ความดังกล่าวมา ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ในคดีก่อนนั้นมีคำพิพากษาวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินของจำเลยส่วนที่อาคาร โจทก์ปลูกรุกล้ำโดยไม่ได้จดทะเบียนการเช่าจึงมีผลใช้บังคับได้เพียง 3 ปี และพ้นกำหนด 3 ปี แล้ว โจทก์จึงต้องออกจากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าโจทก์ได้ปลูกสร้างอาคารพิพาทโดยสุจริตและได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยตลอดมา ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภารจำยอม ข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามฟ้องโจทก์มุ่งไปที่เรื่องการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต และได้ภารจำยอมโดยโจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนและมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลย จึงเป็นคนละเหตุกับคดีก่อนซึ่งเป็นเรื่องเช่าทรัพย์และกรณีนี้มิใช่เรื่องที่เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน มาจากเรื่องเช่าทรัพย์ซึ่งโจทก์จะต้องยกขึ้นอ้างหรือต่อสู้เสียในคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ในศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

Share