แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ออกหนังสือรับรองว่า ได้รับจดทะเบียนกองทรัพย์สินของโครงการจัดการกองทุนรวมโจทก์เป็นกองทุนรวมตามมาตรา 124 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการกองทุนรวมดังกล่าว โดยหนังสือรับรองนี้ได้ออก ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2543 อันแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่ากองทุนรวมโจทก์เพิ่งจดทะเบียนหลังจากที่ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีผลใช้บังคับแล้ว หาใช่จัดตั้งขึ้นก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับไม่ โจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน ส่วนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นนิติบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทกิจการจัดการการลงทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ การที่โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซื้อสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทเงินทุนจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นั้นก็อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทและการบริหารหนี้ดังกล่าวของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ก็อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ที่จะดำเนินการได้เพราะตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ก็ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่าเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการการลงทุนและประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการจัดการกองทุนรวมส่วนบุคคล และตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง ก็ระบุวัตถุประสงค์ของกองทุนรวมไว้ว่า กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วให้เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุน โดยในการจัดการกองทุนรวมได้บัญญัติไว้ในมาตรา 125 ว่า บริษัทหลักทรัพย์จะต้องดำเนินการจัดการกองทุนรวมอย่างไรบ้าง โดยมีข้อห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 126 ดังนี้ การจัดตั้งกองทุนรวมโจทก์จึงเป็นการจัดตั้งขึ้นภายหลังจากที่ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ใช้บังคับแล้ว เพื่อซื้อและรับโอนทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือดำเนินการได้และทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อชำระบัญชี การที่โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซื้อสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อ สัญญากู้ ตราสารหนี้ และสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกระงับการดำเนินการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าวซึ่งมีบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด อยู่ด้วย จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 เพื่อนำหนี้ที่ซื้อมานั้นมาบริหารจัดการโดยให้บริษัทบางกอกแคปปิตอลอันไลแอนซ์ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการ จึงอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์เพราะการซื้อสินทรัพย์และสินเชื่อธุรกิจดังกล่าวนั้นจัดว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งและการดำเนินของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินของกองทุนรวมโจทก์ก็มิได้กระทำการอันเป็นการขัดต่อมาตรา 126 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่บัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 60,287,671.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 30 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000,000 บาท นับแต่วันถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินทั้ง 11 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน จำนวน 40,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.50 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2543 และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.75 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินอัตราสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมาย กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 115204, 119685, 130460 ถึง 130462, 130565 ถึง 130570 แขวงสวนหลวง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 นำออกขายทอดตลาดจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวม มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการของกองทุนรวมดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจประเภทกิจการจัดการการลงทุน องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงประกอบตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ตกลงกู้เงินลักษณะเงินกู้หมุนเวียนในวงเงิน 40,000,000 บาท โดยในการเบิกเงินกู้ทุกครั้งจำเลยที่ 1 ต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด หากตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินได้ จำเลยที่ 1 จะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมตามจำนวนที่ยังค้างชำระอยู่ จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน หากผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่บริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด มีสิทธิเรียกเก็บได้ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินคนละ 40,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินจำนวน 11 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งหนี้ที่มีอยู่แล้วและหนี้ในอนาคตในวงเงิน 70,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดจนกว่าบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด จะได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวน 40,000,000 บาท ไปจากบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด แล้ว และจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด จำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยบางส่วนโดยมิได้ชำระต้นเงิน เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเรื่อยมารวม 6 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 คงชำระแต่ดอกเบี้ยบางส่วนมิได้ชำระต้นเงิน ครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 สัญญาจะใช้เงินจำนวน 40,000,000 บาท เมื่อทวงถาม อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17.50 ต่อปี หากผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 30 ต่อปี นับแต่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระเฉพาะดอกเบี้ยให้แก่บริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด เพียงบางส่วน โดยชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายวันที่ 26 มกราคม 2541 เป็นเงิน 1,311,780.82 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มิได้ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแก่บริษัทดังกล่าวอีก คงค้างชำระต้นเงินจำนวน 40,000,000 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 มกราคม 2541 เรื่อยมา วันที่ 30 กันยายน 2540 โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ได้ทำสัญญาซื้อสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อ สัญญากู้ ตราสารหนี้ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด ซึ่งถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ผู้ขายซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว โดยบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวรวมทั้งบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด ได้โอนสิทธิทั้งปวงภายใต้สินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจแต่ละรายที่ตนเป็นคู่สัญญาให้แก่โจทก์ และบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด ได้โอนสิทธิการรับจำนองที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ บริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และประกาศเรื่องเปลี่ยนแปลงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ภายใน 14 วัน นับแต่วันรับหนังสือ จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2543 ครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 3 มิถุนายน 2543 แล้วจำเลยทั้งสามก็เพิกเฉยไม่ชำระ ก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2543 ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือและบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 เดือนเดียวกัน ครบกำหนดตามหนังสือดังกล่าว จำเลยทั้งสามก็เพิกเฉยไม่ชำระ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ออกหนังสือรับรองว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับจดทะเบียนกองทรัพย์สินของโครงการจัดการกองทุนรวมโจทก์เป็นกองทุนรวมตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ตามทะเบียนเลขที่ 14/2542 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 ซึ่งกองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการกองทุนรวมดังกล่าว โดยหนังสือรับรองนี้ได้ออก ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2543 อันแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่ากองทุนรวมโจทก์เพิ่งจดทะเบียนหลังจากที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ใช้บังคับแล้ว หาใช่จัดตั้งขึ้นก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับไม่ โจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน การที่โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซื้อสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทเงินทุนดังกล่าวจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นั้นก็อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัท และการบริหารหนี้ดังกล่าวของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ก็อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ที่จะดำเนินการได้ เพราะตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ก็ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่าเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการลงทุนและประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการจัดการกองทุนรวมส่วนบุคคล และตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง ก็ได้ระบุวัตถุประสงค์ของกองทุนรวมไว้ว่า กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุน โดยในการจัดการกองทุนรวมได้บัญญัติไว้ในมาตรา 125 ว่า บริษัทหลักทรัพย์จะต้องดำเนินการจัดการกองทุนรวมอย่างไรบ้าง โดยมีข้อห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 126 คือ (1) กระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามที่สำนักงานประกาศกำหนด (2) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้นเอง (3) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่บริษัทหลักทรัพย์เดียวกันนั้นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ (4) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์ของบริษัทใดเกินอัตราส่วนที่สำนักงานประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำนักงานจะกำหนดตามประเภทของหลักทรัพย์หรือตามประกาศของกิจการของบริษัทนั้นก็ได้ และ (5) กู้ยืมเงินในนามของกองทุนรวมหรือก่อภาระผูกพันใด ๆ แก่ทรัพย์สินของกองทุนรวม… พยานหลักฐานโจทก์จึงน่าเชื่อว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโจทก์หลังจากที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2550 ใช้บังคับก็เพื่อซื้อและรับโอนทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินการได้ และทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อชำระบัญชี การที่โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซื้อสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อ สัญญากู้ ตราสารหนี้ และสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ของบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกระงับการดำเนินการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าว ซึ่งมีบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด รวมอยู่ด้วยจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 เพื่อนำหนี้ที่ซื้อมานั้นมาบริหารจัดการโดยให้บริษัทบางกอกแคปปิตอลอัลไลแอนซ์ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการจึงอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ เพราะการซื้อสินทรัพย์และสินเชื่อธุรกิจดังกล่าวนั้นจัดว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งและการดำเนินการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการของกองทุนรวมโจทก์ก็มิได้กระทำการอันเป็นการขัดต่อมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่บัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์ 10,000 บาท