คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นคณะกรรมการ ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2540 ของโจทก์มีมติอนุมัติให้ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์สองคัน ในวงเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด 1 คัน ราคา 291,970 บาท และยี่ห้อเบนซ์ 1 คัน ราคา 1,750,000 บาท เกินกว่าวงเงินตามมติของโจทก์ดังกล่าวถึง 541,970 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ และทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์จะต้องจ่ายเงินซื้อรถยนต์ในราคาที่สูงเกินไป แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปใช้อย่างอื่นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นการไม่ประหยัดไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสิบสี่อ้างว่าโจทก์ให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์ยังขายรถยนต์ทั้งสองคัน โดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์จะขายรถยนต์ทั้งสองคันโดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนก็ไม่อาจทำให้ความเสียหายของโจทก์กลับเป็นไม่มีความเสียหายอีกได้ และการให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ขายรถยนต์ทั้งสองคัน ผู้สุจริตจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 ถึง 823 เท่านั้นโดยมิได้ทำให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นความรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนต่อโจทก์
เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่อนุมัติให้ซื้อรถยนต์ทั้งสองคัน จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราว จำเลยทั้งสิบสี่ยังมีฐานะเป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์อยู่ จึงยังถือไม่ได้ว่าก่อนหน้าวันที่ 20 ธันวาคม 2543 โจทก์ทราบเหตุการณ์กระทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบสี่ แต่ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและตั้งกรรมการดำเนินการโจทก์ชั่วคราว เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันชำระเงิน 677,439.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 541,970 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันใช้เงิน 677,439.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 541,970 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสิบสี่ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสิบสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์ โดยมีคณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของโจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทนตามสำเนาใบสำคัญรับจดทะเบียนสหกรณ์และข้อบังคับของโจทก์ ขณะเกิดเหตุคดีนี้มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการดำเนินการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นกรรมการดำเนินการ โดยได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2539 ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2540 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2540 ของโจทก์มีมติอนุมัติให้โจทก์ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์ 2 คัน ในวงเงิน 1,500,000 บาท เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2541 จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด 1 คัน ราคา 291,970 บาท และวันที่ 28 เมษายน 2541 ซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ 1 คัน ราคา 1,750,000 บาท รวม 2,041,970 บาท ซึ่งเกินกว่าวงเงินที่โจทก์กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงานประจำปี 2541 เป็นเงิน 541,970 บาท และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 จำเลยทั้งสิบสี่อนุมัติการซื้อรถยนต์ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 นายทะเบียนสหกรณ์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสิบสี่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวภายใน 30 วัน แต่จำเลยทั้งสิบสี่มิได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง นายทะเบียนสหกรณ์จึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและตั้งคณะกรรมการดำเนินการโจทก์ชั่วคราวขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบสี่ว่า จำเลยทั้งสิบสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์และจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามข้อบังคับของโจทก์ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ หมวดที่ 2 ข้อ 2 กำหนดวัตถุประสงค์ของโจทก์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินธุรกิจร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันและช่วยเหลือส่วนรวม โดยใช้หลักคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์และจริยธรรมอันดีงามอันมีการประหยัดเป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกและส่วนรวม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมจนสามารถอยู่ดีกินดีมีสันติสุข หมวดที่ 7 คณะกรรมการดำเนินการ ข้อ 56 และ 57 กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการไว้ว่าคณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกโดยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อุดมการณ์ของสหกรณ์หลักการสหกรณ์ วิธีการสหกรณ์ กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบและมติของที่ประชุมใหญ่ตลอดจนในทางอันสมควร เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่สหกรณ์ ทั้งนี้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์ ถ้ากรรมการดำเนินการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ และตามข้อ 50 กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการและเหรัญญิก ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้ข้อบังคับระเบียบ มติ หรือคำสั่งของสหกรณ์ ดังนั้น การที่เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2540 ของโจทก์มีมติอนุมัติให้ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์ 2 คัน ในวงเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 27 และ 28 เดือนเดียวกัน จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด 1 คัน ราคา 291,970 บาท และยี่ห้อเบนซ์ 1 คัน ราคา 1,750,000 บาท เกินกว่าวงเงินตามมติของโจทก์ดังกล่าวถึง 541,970 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์จะต้องจ่ายเงินซื้อรถยนต์ในราคาที่สูงเกินไปแทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปใช้อย่างอื่นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ เป็นการไม่ประหยัดไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสิบสี่อ้างว่าเมื่อสมาชิกทุกคนของโจทก์รับรู้เรื่องการซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน และโจทก์ได้ให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์ยังขายรถยนต์ทั้ง 2 คัน โดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ความเสียหายของโจทก์จากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ทั้ง 2 คันดังกล่าว ส่วนภายหลังโจทก์จะขายรถยนต์ทั้งสองคันโดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุน ก็ไม่อาจทำให้ความเสียหายของโจทก์กลับเป็นไม่มีความเสียหายอีกได้ และการที่ไม่มีสมาชิกผู้ใดคัดค้านหรือโจทก์ให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสิบสี่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ขายรถยนต์ทั้ง 2 คัน ผู้สุจริตจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 ถึง 823 เท่านั้น โดยมิได้ทำให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นความรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสิบสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบสี่ในข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสิบสี่เสนอเรื่องการซื้อรถยนต์ทั้ง 2 คันดังกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2541 ของโจทก์ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่ามีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2541 ตามที่จำเลยทั้งสิบสี่อ้าง เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่อนุมัติให้ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราวตามสำเนาคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ จำเลยทั้งสิบสี่ยังมีฐานะเป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์อยู่ จึงยังถือไม่ได้ว่าก่อนหน้าวันที่ 20 ธันวาคม 2543 โจทก์ทราบเหตุการณ์กระทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบสี่ แต่ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและตั้งกรรมการดำเนินการโจทก์ชั่วคราว เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสิบสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,500 บาท แทนโจทก์

Share