คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1659/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขอบเขตการทำงานของโจทก์กับ อ. จะมีหน้าที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ตามขอบเขตการทำงานของโจทก์ในข้อ 1 ระบุให้โจทก์ต้องดูแลงานส่วนของ อ. ด้วย หลักการทำงานหาก อ. ลาออก โจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชา ต้องเข้าไปดูแลงานของ อ. ก่อน เมื่อตามสัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะสำคัญที่จำเลยในฐานะนายจ้างมีสิทธิที่จะใช้อำนาจบังคับบัญชาโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง และอำนาจที่นายจ้างใช้นั้นต้องเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานแทน อ. ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ลาออกไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหาพนักงานใหม่มาแทนได้ เนื่องจากตำแหน่งงานของ อ. มีความสำคัญที่จะต้องสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาแทน จึงเป็นการใช้อำนาจบังคับบัญชาอันจำเป็นและมีเหตุพอสมควรแก่กรณี คำสั่งดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ซึ่งโจทก์ยินยอมทำงานแทน อ. และคำสั่งนั้นมิได้เพิ่มภาระแก่โจทก์เกินสมควร เมื่อโจทก์ทำงานแทน อ. ชั่วคราว โจทก์ยังคงใช้เวลาทำงานในแต่ละวันเท่าเดิมเหมือนกับที่โจทก์ใช้เวลาทำงานตามตำแหน่งของโจทก์ในแต่ละวัน การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ทำกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 736,662 บาท และค่าเสียหายจำนวน 1,800,000 บาท รวมเป็นจำนวน 2,536,662 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 180,000 บาท ระหว่างทำงานโจทก์มีขอบเขตการทำงานก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารสัญญาจ้าง จำเลยมีแผนผังการทำงานซึ่งมีนายเอกพจน์ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสาระและความบันเทิงได้รับค่าจ้างเดือนละ 73,500 บาท วันที่ 13 ธันวาคม 2549 นายเอกพจน์ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานแทนในส่วนงานของนายเอกพจน์ ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่งถึงนายเดวิท เรื่องหาคนมาทำงานแทนนายเอกพจน์ แต่จำเลยยังไม่สามารถหาคนมาทำงานแทนได้ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2550 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยและเรียกค่าเสียหาย จำเลยมีหนังสือตอบกลับ ระหว่างโจทก์ทำงานจำเลยได้ประเมินผลงานของโจทก์ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 และโจทก์มีบันทึกเวลาเข้าออกงาน และวินิจฉัยว่านายเอกพจน์เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ขอบเขตการทำงานของโจทก์ต้องดูแลงานของนายเอกพจน์ด้วย หลักการทำงานหากนายเอกพจน์ลาออกโจทก์ต้องเข้าไปทำหน้าที่ดูแลต่อไปก่อน เมื่อสัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีสิทธิใช้อำนาจบังคับบัญชาโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างโดยคำสั่งที่เป็นธรรมและไม่ขัดต่อกฎหมาย การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานแทนนายเอกพจน์เป็นการชั่วคราวดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจอันจำเป็นและมีเหตุพอสมควรแก่กรณี คำสั่งจึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว การที่โจทก์ตกลงย่อมเป็นการเปลี่ยนภาระหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยปริยาย ปรากฏว่าจำเลยได้สรรหาบุคคลมาเพื่อทำงานตำแหน่งของนายเอกพจน์ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้นิ่งนอนใจในการหาบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งของนายเอกพจน์โจทก์มีระยะเวลาทำงานในแต่ละวันเท่าเดิม มิได้เป็นการก่อภาระเพิ่มเติมแก่โจทก์อันเกินสมควรย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง อันจะทำให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไม่ว่าเป็นค่าเสียหายที่คิดจากค่าชดเชยหรือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และฟังไม่ได้ว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าทำงานที่โจทก์ทำแทนนายเอกพจน์แก่โจทก์ จำเลยย่อมไม่มีหนี้ที่จะจ่ายค่าเสียหายส่วนนี้เช่นกันกับที่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยเรียกค่าเสียหาย ย่อมมิใช่กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ทั้งโจทก์มิได้เรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง จึงไม่เป็นสาระสำคัญแก่การพิจารณา ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ทำกับโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ขอบเขตการทำงานของโจทก์กับนายเอกพจน์ตามเอกสาร จะมีหน้าที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ตามขอบเขตการทำงานของโจทก์ตามเอกสารในข้อ 1 ระบุให้โจทก์ต้องดูแลงานส่วนของนายเอกพจน์ด้วย หลักการทำงานหากนายเอกพจน์ผู้ใต้บังคับบัญชาลาออกโจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องเข้าไปดูแลงานของนายเอกพจน์ก่อน เมื่อตามสัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะสำคัญที่จำเลยในฐานะนายจ้างมีสิทธิที่จะใช้อำนาจบังคับบัญชาโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง และอำนาจที่นายจ้างใช้นั้นต้องเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานแทนนายเอกพจน์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ลาออกไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหาพนักงานใหม่มาแทนได้ เนื่องจากตำแหน่งงานของนายเอกพจน์มีความสำคัญที่จะต้องสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาแทน จึงเป็นการใช้อำนาจบังคับบัญชาอันจำเป็นและมีเหตุพอสมควรแก่กรณี คำสั่งดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ซึ่งโจทก์ยินยอมทำงานแทนนายเอกพจน์และคำสั่งนั้นมิได้เพิ่มภาระแก่โจทก์เกินสมควร เมื่อโจทก์ทำงานแทนนายเอกพจน์ชั่วคราว โจทก์ยังคงใช้เวลาทำงานในแต่ละวันเท่าเดิมเหมือนกับที่โจทก์ใช้เวลาทำงานตามตำแหน่งของโจทก์ในแต่ละวัน การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ทำกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share