คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3703-3705/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทางภารจำยอมหมายถึงทางที่ผ่านเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นซึ่งกฎหมายเรียกว่า ‘ภารยทรัพย์’ เจ้าของภารยทรัพย์จำต้องยอมให้มีทางผ่านที่ดินของตนเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น ซึ่งเรียกว่า ‘สามยทรัพย์’ ส่วนทางสาธารณะนั้นเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งไม่มีบุคคลใดเป็นเจ้าของ เมื่อทางพิพาทเป็นทางสาธารณะแล้ว จึงเป็นทางภารจำยอมไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินในซอยทรงร่วมมิตรอนุสสรณ์ซึ่งโจทก์ จำเลย และราษฎรใกล้เคียงได้สละที่ดินบ้าง ออกเงินซื้อที่ดินเพื่อทำถนนบ้างและออกเงินเป็นค่าทำถนนบ้าง เพื่อสร้างซอยทรงร่วมมิตรอนุสสรณ์และเพื่อให้เป็นทางสาธารณะตั้งแต่ พ.ศ. 2504 โจทก์ทั้งสามและราษฎรอื่นได้ใช้ถนนดังกล่าวเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงเป็นทางสาธารณะและเป็นทางภารจำยอมด้วย ต่อมาประมาณเดือนมกราคม 2520 จำเลยได้ทำรั้วสังกะสีและรั้วลวดหนามลงบนถนนดังกล่าวทำให้เหลือทางเข้าโรงเรียนปทุมวิทยาของโจทก์ที่ 1 และบ้านของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ประมาณ 1 เมตร ซึ่งเดิมถนนส่วนนี้กว้าง 4.50 เมตร ทำให้โจทก์ทั้งสามและบริวารกับราษฎรอื่นไม่อาจใช้ถนนดังกล่าวได้เหมือนเดิม ขอให้บังคับให้จำเลยรื้อรั้วออกไปและให้ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมของที่ดินโจทก์ทั้งสาม

จำเลยให้การว่าทางพิพาทไม่ใช่ซอยสาธารณะ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2518 ได้มีผู้ร่วมกันออกเงินซ่อมซอยพิพาทและได้ลาดยางถนนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินจำเลยในส่วนที่ไม่ได้สละเป็นถนน จำเลยล้อมรั้วในที่ดินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ เมื่อเป็นทางสาธารณะแล้วก็ย่อมไม่ตกเป็นภารจำยอมอีก พิพากษาให้จำเลยรื้อรั้ว หากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ห้ามมิให้จำเลยปิดกั้นอีก

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ทั้งสามด้วย

จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ และวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 บัญญัติว่า”อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น” ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้แสดงว่าทางภารจำยอมนั้นหมายถึงทางที่ผ่านเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ซึ่งกฎหมายเรียกว่า “ภารยทรัพย์” เจ้าของภารยทรัพย์จำต้องยอมให้มีทางผ่านที่ดินของตนเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่า “สามยทรัพย์” ส่วนทางสาธารณะนั้น เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งไม่มีบุคคลใดเป็นเจ้าของ ฉะนั้นเมื่อทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเสียแล้ว จึงเป็นทางภารจำยอมหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share