แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์แบบอันธพาล มีสันดานชอบเขียนใส่ร้ายประณามสุจริตชนรีดไถ ขู่เข็ญ ทำให้วงการหนังสือพิมพ์เมืองไทยถูกหาว่าสกปรกทั้งหมด ย่อมทำให้ผู้อ่านบทความมีความรู้สึกว่าโจทก์ใช้การเป็นนักหนังสือพิมพ์แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่สุจริต เป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยผู้เขียนบทความจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบด้วยมาตรา 326
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำอยู่ที่หนังสือพิมพ์รายวัน “ดาวสยาม”ใช้นามปากกาในการเขียนบทความว่า “กะแช่” จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา จำเลยที่ ๓ เป็นผู้เขียนบทความใช้นามปากกาว่า “เรือใบ” จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันโฆษณาข้อความ ใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ในหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้เขียนบทความจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ ร่วมกันจัดจำหน่ายแพร่หลายแก่ประชาชนดังนี้
สำนวนแรก เมื่อระหว่างวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๑ ถึงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๑ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดในฉบับวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๑ คอลัมน์ “เรือใบฟู่ฟ่าอาทิตย์” ว่า “ถ้าใครเจ็บป่วยส่งเข้าโรงพยาบาล เสียเงินเสียทองไปตามธรรมเนียม เราปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์โดยอุดมคติตามหลักหนังสือพิมพ์สากล ไม่ใช่ปฏิบัติงานแบบอันธพาล เช่น “ไอ้เมรัยเถื่อน ทั้งไถ ทั้งตบ ทั้งตี ทั้งขู่ ใช้ระบบอันธพาลจนโลกหนังสือพิมพ์เมืองไทยถูกเหมาว่าสกปรกโสโครกรวมกันไปหมด ไม่รู้ว่าคนไหนดี คนไหนชั่ว”
สำนวนที่สอง เมื่อระหว่างวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ถึงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดในฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ คอลัมน์ “เรือใบมุย” ว่า “ไอ้เมรัยเถื่อน” ญวนสามเสนจงฟัง และอย่าฆ่าตัวตาย โดยการใช้ปากกาสกปรกเขียนประนามสุจริตชนโดยไม่รู้ว่าฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ จะพังทั้งเมียและครอบครัว
สำนวนที่สาม เมื่อระหว่างวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ถึงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ วันเวลาไม่ปรากฏชัดในฉบับวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑คอลัมน์ “เรือใบมุย” ว่า “ก็เพราะสันดานชอบ “แบล็คเมล์” ใส่ร้ายป้ายความลามกแก่สุจริตชน “ไอ้เมรัยเถื่อน” จึงใช้ปากกาสกปรกระบายสีอ้างชื่อนายแพทย์เพรา กล่าวว่ามีคนบ้า ๆ เพราะฤทธิ์สุราเรื้อรัง มาทำหนังสือพิมพ์ภาพพจน์แห่งวงการนี้ก็มัวซัว”
ข้อความที่จำเลยเขียนและพิมพ์โฆษณาดังกล่าว จำเลยเจตนาจะให้ประชาชนผู้อ่านเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ใช้นามปากกาว่า”กะแช่” เป็นคนเลว รีดไถ ขู่เข็ญเอาเงินหรือผลประโยชน์อันมิควรได้จากบุคคลอื่นผิดจรรยาบรรณของนักหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทยถูกหาว่าสกปรกโสโครกรวมกันไปหมด และว่าโจทก์เป็นคนญวนเขียนหนังสือพิมพ์อย่างสกปรกเอาความเท็จมาใส่ร้ายบุคคลสุจริต ไม่รู้จักกาละเทศะเพราะคำว่า “ไอ้เมรัยเถื่อน” ที่จำเลยใช้หมายถึงตัวโจทก์ซึ่งใช้นามปากกา “กะแช่” อันหมายถึงเมรัยชนิดหนึ่งทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๘๓, ๘๔ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้องทั้งสามสำนวน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ทุกสำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๘๓ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ สำนวนละ ๒,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๓ สำนวนละ๑ เดือน และปรับสำนวนละ ๒,๐๐๐ บาท รวมโทษ ๓ สำนวนปรับจำเลยที่ ๑๖,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๓ ๓ เดือน และปรับ ๖,๐๐๐ บาท แต่มีเหตุอันควรปรานีให้รอการลงโทษจำเลยที่ ๓ ไว้มีกำหนด ๓ ปี
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ดาวสยามใช้นามปากกาเขียนข่าวสังคมว่า “กะแช่” จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันบางกอกเดลิไทม์ จำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ได้ลงพิมพ์ข้อความในคอลัมน์เรือใบฟู่ฟ่าอาทิตย์ ฉบับลงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๑ และคอลัมน์เรือใบมุยฉบับลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ และฉบับลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑กล่าวถึง “ไอ้เมรัยเถื่อน” เป็นทำนองว่าใช้อิทธิพลหนังสือพิมพ์สกปรกเขียนประณามสุจริตชน ขู่เข็ญ รีดไถ เพราะสันดานอันธพาลมีข้อความตามฟ้อง ผู้เขียนบทความใช้นามปากกา “เรือใบ” คือจำเลยที่ ๓
ในปัญหาที่ว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวข้างต้นมีความหมายเป็นการใส่ความโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้ความหมายคำว่า”กะแช่” ไว้ว่า น้ำตาลเมา เมรัย น้ำเมาหมักแช่เชื้อ แต่ยังมิได้กลั่นเป็นสุราส่วนคำว่า “เมรัย” ให้ความหมายว่า น้ำเมาที่หนักหรือแช่น้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น จะเห็นได้ว่าคำว่า “กะแช่” และ “เมรัย” ย่อมมีความหมายตรงกันว่าหมายถึงน้ำเมาชนิดหนึ่งที่ยังไม่ได้กลั่นเป็นสุรานั่นเอง เพียงแต่ต่างกันที่สำเนียงเรียกขานเท่านั้น นอกจากนั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ ฉบับประจำวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ยังเน้นความถึงตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องว่า “ใครเป็นใครให้ไปถามไอเมรัยเถื่อนราชดำเนิน” ซึ่งนายโชติพยานจำเลย และจำเลยที่ ๒ เบิกความรับว่า โจทก์ทำงานหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ถนนราชดำเนินกลาง นายโชติว่าไม่มีบุคคลอื่นใช้นามปากกา “กะแช่” และยังได้ความจากนายเสริมพยานจำเลยว่า “ราชดำเนิน” หมายถึงชื่อถนน ทางพิจารณาไม่ได้ความว่าหนังสือพิมพ์ที่มีสำนักงานอยู่ถนนราชดำเนินมีบุคคลอื่นใช้นามปากกาที่มีความหมายถึงน้ำเมาดังเช่นโจทก์ ข้อความที่ว่า”ไอ้เมรัยเถื่อนญวนสามเสนจงฟัง” ก็ได้ความจากโจทก์ว่า โจทก์เกิดที่หมู่บ้านญวนสามเสน เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้วย่อมเห็นเจตนาของผู้เขียนเด่นชัดว่า บุคคลที่โจทก์เรียกว่า “ไอ้เมรัยเถื่อน” ตามข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ทั้งสามฉบับนั้นหมายถึงตัวโจทก์นั่นเองที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ นำสืบว่า คำว่า “ไอ้เมรัยเถื่อน”เป็นคำกลาง ๆ ที่หนังสือพิมพ์คิดขึ้น ไม่หมายถึงผู้ใดเป็นการส่วนตัวนั้น เห็นว่าฟังไม่ได้เพราะจำเลยที่ ๓ เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนคอลัมน์หน้า ๔ วิพากษ์วิจารณ์บุคคลในสังคม ไม่มีเหตุผลอะไรที่จำเลยที่ ๓ จะเขียนข้อความเลื่อนลอยไร้สาระโดยปราศจากความมุ่งหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อันจะทำให้ผู้อ่านขาดความนิยมเชื่อถือ การที่จำเลยที่ ๓ เขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์แบบอันธพาลมีสันดานชอบเขียนใส่ร้ายประณามสุจริตชน รีดไถ ขู่เข็ญ ทำให้วงการหนังสือพิมพ์เมืองไทยถูกหาว่าสกปรกทั้งหมดย่อมทำให้ผู้อ่านบทความมีความรู้สึกว่าโจทก์ใช้การเป็นนักหนังสือพิมพ์แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่สุจริต เป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจำเลยที่ ๓ ผู้เขียนบทความจึงมีความผิด
ปัญหาต่อไปมีว่า บริษัทอิทธิชัย จำกัด จำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๓ หรือไม่ คดีได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ที่ลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ มีโจทก์ปากเดียวเบิกความว่า โจทก์เขียนวิจารณ์การกระทำของนายเสรีประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับกิจการบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ซึ่งนายเสรีเป็นประธานกรรมการอยู่ด้วย เป็นทำนองว่านายเสรีใช้ให้จำเลยที่ ๓ เขียนข้อความใส่ความโจทก์ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ ๑ แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่า โจทก์ไม่ทราบสาเหตุที่จำเลยที่ ๓ เขียนวิจารณ์เปิดโปงผู้เขียนคอลัมน์หน้า ๔ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม โจทก์ไม่มีพยานอื่นสนับสนุนข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่านายเสรีในฐานะประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ ๓ เขียนใส่ความโจทก์ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ บริษัทจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า นายสนิทจำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ประกอบด้วยมาตรา ๓๒๖ ทุกสำนวนให้จำคุกสำนวนละ ๑ เดือน และปรับสำนวนละ ๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นโทษจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๖,๐๐๐ บาท โทษจำคุกทั้งสามสำนวนให้ยกเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๕ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์