แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครอง การซื้อขายย่อมกระทำได้โดยส่งมอบการครอบครองให้ เมื่อมีข้อโต้เถียงว่าการที่จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยโจทก์หรือโดยการซื้อแล้วเข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ จำเลยย่อมได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
ระหว่างที่ยังไม่ได้ยื่นฎีกาโจทก์ถึงแก่กรรม นายชะนิดลาดสุวรรณ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทกว้าง 7 วา ยาว 8 วา 2 ศอก เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 23 ตำบลด่านช้างอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองเมื่อปี 2509 จำเลยเข้ามาปลูกบ้านเลขที่ 68 อยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาโจทก์บอกให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอ้างว่าจำเลยอาศัยแต่จำเลยอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครอง การซื้อขายย่อมกระทำได้โดยส่งมอบการครอบครองให้ เมื่อมีข้อโต้เถียงว่าการที่จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยโจทก์หรือโดยการซื้อแล้วเข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ จำเลยย่อมได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน” การนำสืบของโจทก์ไม่เพียงพอหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน