คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3702/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือที่ ว. มีถึงจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ของ ว. มีข้อความว่า ว. ต้องการให้จำเลยจ่ายเงิน 2,112,450 บาท ให้โจทก์ โดยจำเลยจะต้องตรวจรับงานติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียมเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังจากนั้นตัวแทนของจำเลยได้ตรวจรับงานดังกล่าวจากโจทก์และจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ไป 360,000 บาท กับทำบันทึกภายในบริษัทจำเลยยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,752,450 บาท หนังสือดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำเสนอ ส่วนการที่จำเลยตรวจรับมอบงานจากโจทก์ จ่ายเงินให้โจทก์ไปบางส่วนและทำบันทึกภายในยอมรับว่าค้างชำระหนี้แก่โจทก์ มีลักษณะเป็นคำสนองด้วยการแสดงเจตนาโดยปริยาย เกิดเป็นสัญญาระหว่าง ว. และจำเลยโดยให้จำเลยรับมอบงานติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียมจากโจทก์และจ่ายเงินให้โจทก์แทน เนื่องจากจำเลยยังค้างชำระค่าที่ดินและอาคารที่ซื้อจาก ว. อยู่ สัญญาเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก โดยจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงได้ และสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกไม่มีบทกฎหมายใดบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงไม่มีปัญหาว่ามีหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ว. และโจทก์หรือไม่
จำเลยมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ในการซื้อขายและติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียมแต่จำเลยเป็นลูกหนี้ของ ว. โดยยังค้างชำระราคาที่ดินและอาคารที่ซื้อไปจาก ว. มูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินและอาคารย่อมมีอายุความ 10 ปี อันเป็นข้อที่จำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้ ว. ได้ เมื่อสัญญาระหว่างจำเลยและ ว. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก จำเลยมีข้อต่อสู้คู่สัญญาเดิมคือผู้ขายที่ดินและอาคารให้แก่จำเลยอยู่อย่างไรจำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาที่ทำให้จำเลยตกลงว่าจะชำระหนี้ของ ว. ให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 376 แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยยกเอาข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาซื้อขายและติดตั้งกระจกและอลูมิเนียมของ ว. ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 มิใช่มีกำหนด 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2535 นายชูศักดิ์ สุบินเกษม นางวิไล สุบินเกษมและห้างหุ้นส่วนจำกัดรังสิตก่อสร้างและขนส่งได้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ประเภทกระจกและอะลูมิเนียมจากโจทก์ กับว่าจ้างให้โจทก์ไปทำการติดตั้งที่อาคารฉัตร ต่อมานายชูศักดิ์กับพวกดังกล่าวได้โอนขายอาคารฉัตรพร้อมที่ดินให้จำเลยและตกลงโอนหนี้ค่าติดตั้งสินค้าข้างต้นซึ่งนายชูศักดิ์กับพวกค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 2,112,450 บาท ให้จำเลยเป็นผู้ชำระแทนเป็นการหักหนี้ค่าที่ดินและอาคารที่จำเลยซื้อไปดังกล่าว โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยชำระให้โจทก์เพียง 360,000 บาท ส่วนที่เหลือ 1,752,450 บาท จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 3 มิถุนายน 2537 ถึงวันฟ้อง โดยขอคิดเพียง 4 ปี เป็นเงิน 525,735 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน2,278,185 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,752,450 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์กับนายชูศักดิ์ นางวิไล และห้างหุ้นส่วนจำกัดรังสิตก่อสร้างและขนส่ง ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ประเภทกระจกและอลูมิเนียมมาติดตั้งที่อาคารฉัตรของจำเลย โจทก์กับนายชูศักดิ์และพวกดังกล่าวจึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระหนี้ซึ่งกันและกัน การที่โจทก์รีบโอนหนี้จากนายชูศักดิ์กับพวกเป็นการฉ้อฉลจำเลย การโอนหนี้ระหว่างโจทก์กับนายชูศักดิ์และพวกจึงเป็นโมฆะนายชูศักดิ์กับพวกไม่ได้โอนขายอาคารฉัตรให้จำเลยจึงไม่มีหนี้ต่อกัน แม้จำเลยรับโอนหนี้ค่าสินค้าจากนายชูศักดิ์ก็ไม่มีความผูกพันต้องชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยไม่เคยชำระเงิน360,000 บาท ให้โจทก์ หนังสือโอนสิทธิการรับชำระหนี้เป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จึงเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2537 ไม่ได้คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ชอบที่จะเรียกค่าส่งมอบของ ค่าจ้าง และค่าการงานที่ทำให้นายชูศักดิ์กับพวกภายในกำหนด 2 ปี นับแต่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวและการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือระหว่างโจทก์กับนายชูศักดิ์และพวก เพียงแต่นางวิไลมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิการรับชำระหนี้มายังจำเลย ทั้งจำเลยไม่ได้ยินยอมในการโอนหนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,752,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้ขายและติดตั้งกระจกและอลูมิเนียมที่อาคารฉัตรตามคำสั่งซื้อและการว่าจ้างของนายชูศักดิ์ นางวิไล และห้างหุ้นส่วนจำกัดรังสิตก่อสร้างและขนส่งตั้งแต่ปี2535 ต่อมาในปี 2536 นายชูศักดิ์กับพวกได้โอนขายอาคารฉัตรพร้อมที่ดินให้จำเลยโดยในวันที่ 29 เมษายน 2537 นางวิไลมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ค่าติดตั้งกระจกและอลูมิเนียมที่ยังค้างชำระอยู่แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.5 และเมื่อวันที่ 3มิถุนายน 2537 นางวิไลมีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่านางวิไลกับพวกขอโอนสิทธิการรับชำระราคาซื้อขายอาคารสำนักงาน 11 ชั้น ตึกฉัตร จากจำเลยบางส่วนเป็นเงิน2,112,450 บาท ให้แก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าให้โจทก์ติดตั้งกระจกและอลูมิเนียมรวมทั้งแก้ไขงานที่ชำรุดบกพร่องที่อาคารฉัตรให้เสร็จเรียบร้อย เมื่อจำเลยตรวจสอบจนเป็นที่พอใจแล้วตรวจรับมอบงานแล้วจึงให้จ่ายเงินดังกล่าวได้ ตามเอกสารหมาย จ.6ต่อมาโจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานแก่ตัวแทนของจำเลยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์2538 ตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยชำระเงินให้โจทก์ไปแล้ว 2 ครั้ง เป็นเงิน360,000 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 20 เมษายน 2538 นางสาวศรีวิรัตน์ ฉัตรจุฑามาศกรรมการบริหารของจำเลย ทำบันทึกถึงกรรมการผู้อำนวยการของจำเลยว่ามีหนังสือสัญญาโอนสิทธิการรับชำระหนี้ของโจทก์เป็นเงิน 1,752,450 บาท ตามเอกสารหมายจ.9 และในวันที่ 24 เมษายน 2538 นางสาวศรีวิรัตน์ทำหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของจำเลยอีกฉบับหนึ่งมีข้อความว่าจำเลยจะต้องทำเช็คสั่งจ่ายให้โจทก์เป็นเงิน 1,752,450 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10

พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนางวิไลกับพวกให้โจทก์มิได้ทำเป็นหนังสือตามกฎหมายหนังสือของนางวิไลถึงจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นเพียงหนังสือบอกกล่าวนั้น เห็นว่า นางวิไลมีหนังสือตามเอกสารหมายจ.6 ถึงจำเลยมีข้อความแสดงเจตนาแก่จำเลยว่า นางวิไลกับพวกต้องการให้จำเลยจ่ายเงิน 2,112,450 บาท ให้โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องตรวจรับงานติดตั้งกระจกและอลูมิเนียมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นตัวแทนจำเลยได้ตรวจรับงานดังกล่าวจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ไป 360,000 บาทกับทำบันทึกภายในบริษัทจำเลยยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,752,450บาท ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ดังนี้ หนังสือของนางวิไลตามเอกสารหมาย จ.6 ย่อมมีลักษณะเป็นคำเสนอ ส่วนการที่จำเลยตรวจรับมอบงานจากโจทก์จ่ายเงินให้โจทก์ไปบางส่วน และทำบันทึกภายในยอมรับว่าค้างชำระหนี้แก่โจทก์ ย่อมมีลักษณะเป็นคำสนองด้วยการแสดงเจตนาโดยปริยาย เกิดเป็นสัญญาระหว่างนางวิไลกับพวกและจำเลย โดยให้จำเลยรับมอบงานติดตั้งกระจกและอลูมิเนียมจากโจทก์และจ่ายเงินให้โจทก์แทน เนื่องจากจำเลยยังค้างชำระค่าที่ดินและอาคารที่ซื้อจากนางวิไลกับพวกอยู่ สัญญาเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกคือโจทก์ โดยจำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงได้ และสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเช่นนี้ ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่ามีหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนางวิไลกับพวกในฐานะผู้โอนและโจทก์ในฐานะผู้รับโอนหรือไม่แม้โจทก์จะตั้งประเด็นมาในคำฟ้องทำนองเป็นเรื่องโอนสิทธิเรียกร้องก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องมาเป็นที่เข้าใจได้ว่านายชูศักดิ์ นางวิไลและห้างหุ้นส่วนจำกัดรังสิตก่อสร้างและขนส่งตกลงให้จำเลยชำระหนี้ค่ากระจกและอลูมิเนียมแก่โจทก์แล้วหักหนี้ค่าที่ดินและอาคารที่จำเลยซื้อไป เมื่อจำเลยได้รับหนังสือจากนางวิไลแล้วชำระหนี้ให้โจทก์เพียง360,000 บาท ซึ่งแสดงว่ามีการตกลงกันระหว่างนางวิไลกับพวกและจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องจะต้องด้วยบทกฎหมายเรื่องใดเป็นเรื่องที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยถือได้ว่าคำฟ้องมีประเด็นในเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกด้วย…

ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 อันเป็นวันรับมอบงานนั้น เห็นว่า จำเลยมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ในการว่าจ้างให้โจทก์ติดตั้งกระจกและอลูมิเนียม แต่จำเลยเป็นลูกหนี้ของนายชูศักดิ์ นางวิไลและห้างหุ้นส่วนจำกัดรังสิตก่อสร้างและขนส่งโดยยังค้างชำระราคาที่ดินและอาคารที่ซื้อไป มูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีอายุความ 10 ปีอันเป็นข้อที่จำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้ผู้ขายได้ เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกดังวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว จำเลยมีข้อต่อสู้คู่สัญญาเดิมคือผู้ขายที่ดินและอาคารให้แก่จำเลยอยู่อย่างไรจำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาที่ทำให้จำเลยตกลงว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 376 แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยยกเอาข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาซื้อขายและติดตั้งสินค้าดังกล่าวของนายชูศักดิ์กับพวกซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาซื้อขายของจำเลยดังกล่าวได้ คดีนี้จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรณีเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันโดยชอบ คดีมีอายุความ 2 ปี แต่ยังไม่มีการรับมอบงานจึงไม่ขาดอายุความ และพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share