คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดที่มิใช่การส่งออก เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มาตรา 81/3 (1) ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่เดือนภาษีได้ ตามมาตรา 82/3 ดังนั้น หากผู้ประกอบการ มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักรย่อมไม่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการดังกล่าวตามมาตรา 82/3
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะประเภทการค้าส่งออก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดเท่านั้น มิได้จดทะเบียนขายภายในประเทศ และจำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเองเลย เพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นการขายที่มิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน แต่จำเลยกลับยื่นแบบแสดงรายการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์หลงเชื่อคืนภาษีคืนให้แก่จำเลย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ยอมคืน เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยมิใช่ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร แต่จำเลยกลับยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและขอคืนภาษีซื้อเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์คืนภาษีซื้อให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน จึงต้องคืนเงินภาษีดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยนำมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 คำฟ้องของโจทก์จึงมีมูลหนี้ที่แน่ชัด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. ๓๐) ขอคืนภาษีซื้อด้วยเงินสดรวม ๔๘ ฉบับ รวมเงินภาษีซื้อ ๒,๐๑๓,๗๓๖.๓๑ บาท แต่จากการตรวจสอบว่าเป็นการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จ เพราะจำเลยมิได้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดแต่อย่างใด เพียงแต่ขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่ผู้ค้าในประเทศเท่านั้น จึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๑ (๑) (ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินภาษีและชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับแก่โจทก์รวม ๒,๑๘๑,๐๑๗.๖๙ บาท อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่ วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันชี้สองสถานศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยต้องคืนค่าเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ ทนายโจทก์นำเจ้าหน้าที่ กรมสรรพากรมาแถลงว่า เงินค่าภาษีที่จำเลยขอคืนตามฟ้องเป็นเงินค่าภาษีซื้อที่จำเลยจ่ายในการซื้อวัสดุก่อสร้างมาทำการก่อสร้างโกดังบรรจุมันสำปะหลังที่เป็นอาชีพของจำเลยและภาษีซื้อของค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์ของ สำนักงานจำเลย ทนายโจทก์และทนายจำเลยแถลงรับว่า จำเลยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะประเภทการค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดอย่างเดียว มิได้จดทะเบียนขายในประเทศ จำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดเอง เพียงแต่ขายให้ผู้อื่นส่งออกนอกประเทศและยอดเงินตามฟ้องถูกต้อง ศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าคดี พอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๗๗/๑ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมมีสิทธิขอภาษีคืนหรือนำไปหักในการคำนวณภาษี เว้นแต่เป็นภาษีซื้อที่ต้องห้ามตาม มาตรา ๘๒/๕ ตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืนในกรณีใดบ้าง หาใช่บรรยายแต่เพียงว่าจำเลยไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืนเท่านั้นไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยไม่เคยส่งออก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเอง เพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่งเท่านั้น จึงเป็นการข่ายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๑ (๑) (ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน อันมิใช่เหตุตาม บทกฎหมายดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า คำฟ้องโจทก์มีมูลหนี้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดที่มิใช่การส่งออก เป็นการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๑ (๑) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มาตรา ๘๑/๓ (๑) ก็บัญญัติให้ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการดังกล่าวขอจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักจากภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา ๘๒/๓ ได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการขายผลิตภัณพ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร ผู้ประกอบการย่อมไม่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการดังกล่าวตามมาตรา ๘๒/๓ โจทก์ระบุในคำฟ้องชัดเจนว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทการค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดเท่านั้น แต่จำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเองเพียงแต่ขายให้แก่ผู่ส่งออกอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๑ (๑) (ก) (ที่ถูกคือมาตรา ๘๑ (๑) (ก)) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน แต่จำเลยยังยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. ๓๐ ขอคืนภาษีซื้อด้วยเงินสดตั้งแต่ เดือนตุลาคม ๒๕๓๕ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๓๙ รวม ๔๘ ฉบับ เป็นการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์หลงเชื่อคืนภาษีซื้อให้แก่จำเลยจำนวน ๒,๐๑๓,๗๓๖.๓๑ บาท เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีซื้อคืน โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินดังกล่าวมาคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ยอมคืน จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร แต่จำเลยกลับยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและขอคืนภาษีซื้อเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์คืนภาษีซื้อให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิได้รับภาษีซื้อดังกล่าวคืน จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยนำมาหักภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา ๘๒/๕ แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยแต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงมี มูลหนี้ที่แน่ชัด เมื่อคำฟ้องของโจทก์ระบุถึงมูลหนี้และเหตุที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์โดยแจ้งชัดแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ว พิพากษายกฟ้องอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีมีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share