คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2555

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กัน กรณีแม้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัว แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตาม ป.พ.พ. มาพิจารณาประกอบกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้วถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรส ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการระงับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5536 ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หรือหากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวคืนได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาที่ดิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 12 ต่อมาประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า แม้คดีนี้เป็นเรื่องพิพาทในเรื่องสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน อันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 11 (3) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แต่การพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสัญญาระหว่างสมรสที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กันดังกรณีนี้ ก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาพิจารณาประกอบกัน ซึ่งมิใช่จะต้องบังคับใช้เฉพาะตามบทบัญญัติในบรรพ 5 ลักษณะครอบครัวดังที่โจทก์เข้าใจเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าตามสัญญาแลกเปลี่ยน ข้อ 4 ระบุว่า ในการตกลงแลกเปลี่ยนทรัพย์ในข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 แก่กันและกันนั้น จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินตามข้อ 1 ดังกล่าว ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตามราคาที่เจ้าพนักงานจะประเมินราคาทรัพย์ โดยโจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2535 ให้แก่จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมแทน โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3079 ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 2531 สุราษฎร์ธานี โดยตีราคาทรัพย์ทั้งสองอย่างเท่ากัน โดยในวันที่ 30 มิถุนายน 2535 อันเป็นวันที่ทำสัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนั้นได้มีการทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินโดยทำในรูปแบบโจทก์ทำนิติกรรมขายแก่จำเลยที่ 2 และต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการออกโฉนดที่ดินแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2543 ถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์แล้ว แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการกลับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้ ที่โจทก์ฎีกาในประเด็นต่อมาว่า โจทก์ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมใด ๆ กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าไม่ได้ซื้อขายกันจริง เจตนาแท้จริงคือการแลกเปลี่ยนทรัพย์กัน แต่ทำนิติกรรมอำพรางว่าเป็นการขายให้แก่จำเลยที่ 2 และอ้างว่าแท้จริงแล้วเป็นการให้จำเลยที่ 2 ครอบครองแทน เป็นฎีกาที่อ้างเหตุขัดแย้งทั้งในเรื่องการแลกเปลี่ยนทรัพย์ ซื้อขาย และการให้จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินแทนจำเลยที่ 1 ล้วนเป็นข้ออ้างที่ขัดแย้งกันเองและเป็นการขัดกับข้อความในสัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน อีกทั้งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่ยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 ส่วนฎีกาอื่นของโจทก์นอกจากนี้ล้วนเป็นเพียงรายละเอียดที่ไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share