แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่า พระราชบัญญัติล้มละลายฯที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายอาจจะเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 29 วรรคหนึ่งนั้น ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นการโต้แย้งที่ชัดแจ้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและไม่อาจถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งโดยชัดแจ้งว่า พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ทุกมาตราให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และห้ามมิให้ลูกหนี้เข้าจัดการทรัพย์สินของตนขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 264
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2542
จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์และต่อมาจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 อ้างว่าการที่ศาลจะใช้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บังคับแก่คดีนี้ เป็นการต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6ขอให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งคำร้องของจำเลยตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลชั้นต้นมีหนังสือส่งคำร้องของจำเลยดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาวันที่ 2 มีนาคม 2543 ศาลอุทธรณ์มีหนังสือถึงศาลชั้นต้นแจ้งว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งแล้ว (เป็นคำสั่งเรื่องจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์) จึงส่งคำสั่งและสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ระหว่างนี้ศาลอุทธรณ์ได้รับหนังสือของศาลชั้นต้นที่ส่งคำร้องฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 มาให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาศาลอุทธรณ์จึงมีหนังสือลงวันที่ 9 มีนาคม 2543แจ้งศาลชั้นต้นคืนคำร้องดังกล่าวของจำเลย เนื่องจากศาลอุทธรณ์ทำคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์เสร็จแล้ว และส่งคำสั่งกับสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแล้วตามหนังสือศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 2 มีนาคม 2543 ดังกล่าว วันที่ 21 เมษายน 2543 ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์
วันที่ 3 พฤษภาคม 2543 จำเลยยื่นคำร้องว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์มิได้กล่าวถึงคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 จึงขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหากจำเลยยังติดใจคำร้องดังกล่าวให้ยื่นมาใหม่
วันที่ 16 พฤษภาคม 2543 จำเลยยื่นคำร้องว่า การที่ศาลไม่ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและรอการพิจารณาคดีไว้ก่อนเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ขอให้เพิกถอนการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2543และให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว โดยส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2543 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งที่ไม่เพิกถอนการพิจารณา และคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้กำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณา
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่า คำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์2543 ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 และกรณีมีเหตุสมควรเพิกถอนการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2543 หรือไม่ เห็นว่า คำร้องของจำเลยดังกล่าวมีใจความสำคัญแต่เพียงว่า บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่จะใช้บังคับในคดีนี้ กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แม้ว่าคดียังไม่ถึงที่สุดเพราะว่าลูกหนี้อุทธรณ์อยู่ก็ตาม ซึ่งโดยเหตุผลของกฎหมายแล้ว ก่อนที่ลูกหนี้จะตกเป็นบุคคลล้มละลายย่อมมีสถานะเหมือนบุคคลทั่วไป และมีสิทธิในทรัพย์สินของตนเองโดยสมบูรณ์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 4 และมาตรา 48 ก็ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของบุคคลในอันจะจัดการทรัพย์สินของตนได้อยู่แล้ว การที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บังคับแก่คดีนี้ อาจจะเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยในการที่จำเลยจะจัดการทรัพย์สินของตนได้จึงขัดต่อมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นการโต้แย้งที่ชัดแจ้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งโดยชัดแจ้งว่าบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ทุกมาตราให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และห้ามมิให้ลูกหนี้เข้าจัดการทรัพย์สินของตนขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญดังที่จำเลยฎีกา จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นของจำเลยไปเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2540 มาตรา 264 และไม่มีกรณีสมควรเพิกถอนการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2543 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน