คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2ไว้ในครอบครองเพื่อเสพเป็นยารักษาโรค เพียงแต่มิได้ เสพตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบ โรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรมที่ได้รับอนุญาต แล้วเท่านั้น ทั้งฝิ่นที่ใช้ผสมน้ำก็มีจำนวนเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ ใช้ฝิ่นเพียง 8.8 กรัม ผสมน้ำถึง 3 ขวด และเป็นเพียงยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำเลยไม่เคย ต้องโทษจำคุกมาก่อน และมีอาชีพมั่นคง การลงโทษจำคุกจำเลย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่สังคม การรอการลงโทษ ให้แก่จำเลยโดยกำหนดวิธีการคุมประพฤติน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 2ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ในความผิดฐานดังกล่าวโดยให้จำคุก 4 เดือน นั้น แม้ว่า จะต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเสพฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 โดยวิธีนำฝิ่นสุกผสมน้ำดื่มเข้าสู่ร่างกายเพื่อรักษาโรคโดยมิได้เป็นการเสพตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรมที่ได้รับอนุญาต และจำเลยมีฝิ่นสุกผสมน้ำจำนวน 3 ขวด น้ำหนัก 8.8 กรัม ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 58, 69, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 58, 69 วรรคหนึ่ง, 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองให้จำคุก 4 เดือน ฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีเพียงประเด็นว่าควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อเสพเป็นยารักษาโรค เพียงแต่มิได้เสพตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรมที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น ทั้งฝิ่นที่ใช้ผสมน้ำก็มีจำนวนเพียงเล็กน้อย กล่าวคือใช้ฝิ่นเพียง 8.8 กรัม ผสมน้ำถึง 3 ขวด และเป็นเพียงยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และมีอาชีพมั่นคง การลงโทษจำคุกจำเลยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่สังคม การรอการลงโทษให้แก่จำเลยโดยกำหนดวิธีการคุมประพฤติน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 2ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวโดยให้จำคุก 4 เดือน นั้น แม้ว่าจะต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดแต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษแก่จำเลยมีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดเป็นเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share