แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นิติกรรมที่หญิงมีสามีไปทำขึ้นโดยสามีมิได้รู้เห็นยินยอมนั้นย่อมเป็นโมฆียะ เมื่อสามีบอกล้างแล้วก็ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 138
่การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมจากกันนั้นเมื่อกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ผู้ใดจะอ้างว่าการนั้นได้รับความยินยอมแล้วโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออันเป็นการฝืนหลักกฎหมายเช่นนี้ ฟังไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางนาเป็นสามีภริยากัน โดยชอบด้วยกฎหมาย นางนาได้รับมรดกที่ดินโฉนดที่ ๓๐๕๔ ตำบลเขาพระจังหวัดนครนายกร่วมกับนางทองมีนางจันทีน้องยังมิได้แบ่งแยกกันครั้น พ.ศ. ๒๔๙๕ จำเลยที่ ๑-๒ ได้มาโอนรับมรดกที่ดินส่วนของนางจันทีมารดาผู้วายชนม์ จำเลยสมคบกับพวกมีเจตนาทุจริตหลอกลวงให้นางนวลลงลายมือในหนังสือสัญญาให้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวข้างต้นให้แก่จำเลยโดยโจทก์ไม่ทราบหรือยินยอมให้ จึงเป็นโมฆียะไม่ชอบด้วยป.พ.พ.มาตรา ๓๘ ขอให้เพิกถอนสัญญานั้นเสีย
จำเลยให้การต้องกันว่า นายนาภริยาโจทก์ได้ขอแลกเปลี่ยนที่ดินฉะเพาะส่วนของนางนากับส่วนของจำเลย คือนางนายกที่ดินตามโฉนดที่ ๓๐๕๔ ให้จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยกที่ดินฉะเพาะของจำเลยตามโฉนดที่ ๓๐๕๕ ให้นางนา โจทก์เจตนาไม่สุจริตเพราะนางนาภริยาโจทก์และโจทก์ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันเสร็จไปแล้ว
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนางนาเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม โจทก์ไม่ค้าน ศาลอนุญาต
คู่ความรับกันว่านางนาเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายที่ดินโฉนดที่ ๓๐๕๔ นางนาได้รับมรดกระหว่างที่อยู่กินกับโจทก์เวลาทำนิติกรรมที่หอทะเบียนที่ดิน โจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาให้กรรมสิทธิฉะเพาะส่วนตามโฉนดที่ ๓๐๕๔ เสีย ฯลฯ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามรายงานพิจารณาหามีว่าจำเลยสละข้อต่อสู้อื่นๆ ไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ตัดสินใหม่จนหมดประเด็น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่านายพุมมา โจทก์ฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่านายพุมมาโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย โจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และนิติกรรมระหว่างนางนากับจำเลย นายพุมมากับโจทก์ไม่ได้รู้เห็นด้วยดังนี้ เมื่อโจทก์บอกล้างนิติกรรมก็ตกเป็น โมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘ คู่กรณีจึงกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิม
ส่วนที่จำเลยเถียงว่า โจทก์มีเจตนาไม่สุจริตเพราะโจทก์ทั้งสองได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันเสร็จไปแล้ว เท่ากับนายพุมมาโจทก์ให้ความยินยอมรู้เห็นด้วย และการยินยอมของสามีนั้นจะปฏิบัติด้วยวิธีการอย่างใดหาได้บัญญัติไว้ไม่นั้นเห็นว่าตาม ป.พ.พ.ม.๑๔๗๖ บัญญัติว่า “การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมจากกัน และถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ” ข้อเถียงของจำเลยจึงเป็นการฝืนหลักกฎหมายดังกล่าวฟังไม่ได้ทั้งคำแถลงรับของจำเลยก็ตัดประเด็นข้อเท็จจริงอื่น ๆ หมด ไป
พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฯลฯ