คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคแรก เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 รวมจำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องคงลงโทษจำคุกจำเลยรวม 2 กระทงเช่นเดิม เพียงแต่ให้ยกคำขอที่ให้เพิ่มโทษ โจทก์มิได้ฎีกาในข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่เพิ่มโทษ จึงมีผลเท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องไม่เพิ่มโทษซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดทั้งสองฐานความผิดจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317, 277, 91, 92 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคแรก เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 รวมจำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลย 9 ปี โดยไม่เพิ่มโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคแรก เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีจำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 รวมจำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นและพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องคงลงโทษจำคุกจำเลยรวม 2 กระทงเช่นเดิม เพียงแต่ให้ยกคำขอที่ให้เพิ่มโทษ โจทก์มิได้ฎีกาในข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่เพิ่มโทษ จึงมีผลเท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องไม่เพิ่มโทษซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดทั้งสองฐานความผิดจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share