แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ลงชื่อจะมาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 16 เมษายน 2534ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2534 ถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นำส่งสำเนาฎีกาแก่จำเลยภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน2534 แล้ว เมื่อโจทก์ไม่นำส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ประกอบมาตรา 246,247 ในชั้นฎีกาโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1, ที่ 2และที่ 4 คดีสำหรับจำเลยดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโดยจำเลยดังกล่าวไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนนั้น เมื่อจำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1จำเลยที่ 4 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ต่อจำเลยที่ 3 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 โดยประมาทชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว115,000 บาท จึงได้สิทธิของผู้เอาประกันภัยขอเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่กับดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของฝ่ายโจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 30,000 บาท จำเลยที่ 4มิใช่ลูกจ้างขณะปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์กับดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ สำเนาให้จำเลยทั้งสี่ให้โจทก์นำส่งสำเนาฎีกาภายใน 7 วัน ไม่พบหรือไม่มีผู้รับแทนโดยชอบให้ปิด
ในการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกา ส่งให้แก่จำเลยที่ 3 ได้โดยการปิดหมาย ส่วนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 โจทก์มิได้นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้ตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในฎีกาของโจทก์ โจทก์ลงชื่อจะมาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 16 เมษายน 2534 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2534ดังนี้ ถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นำส่งสำเนาฎีกาแก่จำเลยภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2534 แล้ว เมื่อโจทก์ไม่นำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยดังกล่าวออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยต่อไป
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ โจทก์ฎีกา แต่ในชั้นฎีกาโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 คดีสำหรับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยดังกล่าวไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเมื่อผู้เอาประกันภัยคือจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
พิพากษายืน