แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันค้าขายพืชไร่โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “ท่าข้าว ก.” สั่งซื้อข้าวโพดจากโจทก์แล้วไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย แล้วจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับซื้อและจำหน่ายพืชไร่ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า ท่าข้าว ก. ซึ่งจดทะเบียนพาณิชย์ในนามของจำเลยร่วมตามใบทะเบียนพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวโพดตามฟ้อง แต่เป็นบุคคลอื่นที่ซื้อข้าวโพดจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชำระค่าข้าวโพดให้แก่โจทก์นั้น กรณีจึงยังมีข้อโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการท่าข้าว ก. ที่แท้จริง แม้โจทก์ไม่อาจขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) (ก) แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการ แต่จดทะเบียนพาณิชย์ในชื่อของจำเลยร่วมและยังมีบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามาซื้อข้าวโพดจากโจทก์ในท่าข้าว ก. อีก ตามคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีจึงเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็น และศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 503,091 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 482,007 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายเรียกนายพิน เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นตามคำร้องลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 482,007 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม และให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกนายพินเข้ามาเป็นจำเลยร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม และให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลหมายเรียกนายพินเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น เป็นการชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ขอจดทะเบียนพาณิชย์ โดยใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า “ท่าข้าวเกตุธัญญา” เมื่อจำเลยร่วมยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ขอจดทะเบียนจากชื่อจำเลยร่วมเป็นชื่อจำเลยที่ 2 ก็ต้องถือว่าจำเลยร่วมยังประกอบกิจการอยู่ ย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) เห็นว่า การที่คู่ความฝ่ายใดจะเรียกบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเข้ามาในคดีนั้น ต้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อการใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองซึ่งประกอบกิจการโดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “ท่าข้าวเกตุธัญญา” สั่งซื้อข้าวโพดตามฟ้องจากโจทก์ โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 503,091 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ซื้อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ ซึ่งแม้หากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองหรือคนใดคนหนึ่งรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์ ก็หาทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือให้จำเลยร่วมใช้ค่าทดแทนตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) ได้ไม่ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันค้าขายพืชไร่โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “ท่าข้าวเกตุธัญญา” เป็นคดีนี้แล้ว จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับซื้อและจำหน่ายพืชไร่ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่าท่าข้าวเกตุธัญญา ซึ่งจดทะเบียนพาณิชย์ในนามของนายพิน โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวโพดตามฟ้อง แต่เป็นบุคคลอื่นที่ซื้อข้าวโพดจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชำระค่าข้าวโพดให้แก่โจทก์ กรณีตามคำฟ้องและคำให้การเช่นนี้จึงยังไม่แน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการท่าข้าวเกตุธัญญาและเป็นผู้ซื้อข้าวโพดที่แท้จริง แม้โจทก์ไม่อาจขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) (ก) ดังที่วินิจฉัยข้างต้น แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการ แต่จดทะเบียนพาณิชย์ในชื่อของนายพินและยังมีบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามาซื้อข้าวโพดจากโจทก์ในท่าข้าวเกตุธัญญาอีก ตามคำร้องของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 (3) (ข) ได้ โดยจะเห็นได้ว่าจำเลยร่วมก็กลับให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของท่าข้าวเกตุธัญญาเนื่องจากได้ยกกิจการท่าข้าวเกตุธัญญาให้กับจำเลยที่ 2 ไปนานแล้ว และให้การเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ถูกบุคคลอื่นหลอกว่าเป็นเจ้าของท่าข้าวเกตุธัญญาและโจทก์เป็นผู้ประมาทเลินเล่อเองที่ไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ซึ่งจากคำให้การของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมดังกล่าวยิ่งทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมต่างปัดความรับผิดให้แก่ผู้อื่น การที่ศาลชั้นต้นให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีนั้นชอบแล้ว ส่วนปัญหาว่าจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังยุติได้ว่า โจทก์นำข้าวโพดไปส่งมอบให้จำเลยที่ 2 ที่ท่าข้าวเกตุธัญญา ซึ่งตามใบทะเบียนพาณิชย์ ระบุว่าสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ออกใบทะเบียนพาณิชย์ให้แก่จำเลยร่วมเพื่อประกอบการค้าพืชไร่ในชื่อท่าข้าวเกตุธัญญา ประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ 2 ก็ยังกล่าวอ้างว่าท่าข้าวเกตุธัญญาจดทะเบียนในนามของจำเลยร่วม กรณีจึงแสดงว่าจำเลยร่วมมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของท่าข้าวเกตุธัญญาอยู่ในทางใดทางหนึ่ง มิฉะนั้นจำเลยที่ 2 ก็คงไม่จำต้องให้การกล่าวถึง แม้จำเลยร่วมจะอ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวโพดตามฟ้องเนื่องจากยกกิจการท่าข้าวเกตุธัญญาให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยร่วมไม่นำสืบและไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ว่าจำเลยร่วมยกกิจการให้จำเลยที่ 2 ไปแล้วอย่างไร ทั้งที่ยังปรากฏว่าใบทะเบียนพาณิชย์ของท่าข้าวเกตุธัญญายังมีชื่อจำเลยร่วมเป็นผู้ประกอบการอยู่และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน อันแสดงให้บุคคลภายนอกเห็นได้ว่าจำเลยร่วมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของท่าข้าวเกตุธัญญาแล้ว จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระราคาข้าวโพดตามฟ้องแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท