แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ด. ซึ่งบริษัท ด. ได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 11 คูหา ด้านหลังอาคารมีกำแพงรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กสูงประมาณ 2 เมตร กั้นยาวตลอดทั้ง 11 คูหา ลงบนที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซื้ออาคารมาเมื่อปี 2525 และ 2536 ตามลำดับ แล้วต่อเติมรั้วคอนกรีตเดิมซึ่งอยู่นอกโฉนดที่ดินอาคารที่ซื้อมาให้สูงขึ้นและมุงหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคาร ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2537 ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมรั้วคอนกรีตทั้งหมด ในการที่รั้วคอนกรีตที่ได้มีการก่อสร้างไว้แล้วเดิมไม่มีกฎหมายมาตราใดที่จะยกขึ้นมาปรับแก่คดีได้โดยตรง ในการวินิจฉัยคดีจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่ง ป.พ.พ. และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงในคดีนี้คือ ป.พ.พ. มาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างคือรั้วคอนกรีต โจทก์จึงเป็นเจ้าของรั้วคอนกรีตเดิม ส่วนรั้วคอนกรีตที่ต่อเติมให้สูงขึ้นและสิ่งปลูกสร้างที่ด้านหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่ต่อเติมขึ้นภายหลังนั้น ก็ไม่ใช่การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น หรือสร้างโรงเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอื่นในที่ดินของผู้อื่น แม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะกระทำไปโดยสุจริต จำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้ที่ดินของโจทก์ได้ เพราะกรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1312 และมาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงต้องรื้อส่วนที่ต่อเติมดังกล่าวออกไป
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน แต่คดีสำหรับจำเลยบางคนยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้บังคับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ รื้อถอนรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ต่อเติม ด้านหลังอาคารพาณิชย์ที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ออกไป และทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิม โดยให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนรั้วคอนกรีต และสิ่งปลูกสร้างที่ต่อเติมอาคารพาณิชย์ของตนออกไปจากที่ดินของโจทก์และทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิมพร้อมทั้งส่งมอบแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การและฟ้องแย้งว่า เจ้าของที่ดินคนก่อนเป็นผู้ปลูกสร้างรั้วคอนกรีตบางส่วนขึ้นมา เพื่อกั้นเป็นแนวเขตที่ดินกับที่ดินของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จึงได้ปลูกสร้างรั้วคอนกรีตเพิ่มเติมจาก ของเดิม และได้ใช้รั้วคอนกรีตบางส่วนเป็นฝาผนังของอาคารที่ปลูกสร้างเพิ่มเติมซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เอง ไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ ๔ และเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ ๕ โดยจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ยินยอมใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์เดือนละ ๒๐๐ บาท และ ๓๐๐ บาท ตามลำดับ หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทน การแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ได้ปลูกสร้างรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต และไม่มีสิทธิตามกฎหมาย จึงไม่อาจได้ภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง หากจำเลยมีสิทธิขอให้โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมตามฟ้องแย้ง ขอให้บังคับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ใช้ค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ รื้อถอนรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ต่อเติม ด้านหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ ๔ ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๖๖๕ และของจำเลยที่ ๕ ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๖๖๖ ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๖๗๑ ตำบล คลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ออกไป และทำให้ที่ดินของโจทก์กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๕๐๐ บาท นับแต่ วันฟ้อง (วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘) ไปจนกว่าจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จะรื้อถอนรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ต่อเติมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และทำให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิมเสร็จสิ้น และให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ กับจำเลยในสำนวน อื่นชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ รื้อรั้วคอนกรีตเฉพาะส่วนที่ต่อเติมสูงขึ้น ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ รื้อรั้วคอนกรีตเดิม ให้คืนเงินค่าทนายความใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ ๔ และ ที่ ๕ วางไว้เกินแก่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ต้องรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมจากรั้วคอนกรีตเดิมตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า เดิมที่ดินของโจทก์และของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ต่างเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทดับเบิ้ลเอสอาร์ จำกัด ต่อมาบริษัทดับเบิ้ลเอสอาร์ จำกัด ได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน ๑๑ คูหา ด้านหลังอาคารมีกำแพงรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กสูงประมาณ ๒ เมตร กั้นยาวตลอดทั้ง ๑๑ คูหา จำเลยที่ ๔ ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี ๒๕๒๕ ส่วนจำเลยที่ ๕ ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี ๒๕๓๖ หลังจากซื้ออาคารแล้วจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ได้ต่อเติมรั้วคอนกรีตเดิมซึ่งอยู่นอกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาให้สูงขึ้นและมุงหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคาร ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๖๗๑ มาเมื่อปี ๒๕๓๗ ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมรั้วคอนกรีตทั้งหมด ในกรณีรั้วคอนกรีต ที่ได้มีการก่อสร้างไว้แล้วเดิมไม่มีบทกฎหมายมาตราใดที่จะยกขึ้นมาปรับแก่คดีได้โดยตรง ในการวินิจฉัยคดีจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา ๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบทกฎหมายที่ ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงในคดีนี้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๐ ประกอบมาตรา ๑๓๑๔ ซึ่งบัญญัติให้โจทก์เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างคือรั้วคอนกรีต โจทก์จึงเป็นเจ้าของรั้วคอนกรีตเดิม ส่วนรั้วคอนกรีตที่ต่อเติมให้สูงขึ้นและสิ่งปลูกสร้างด้านหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ที่ต่อเติมขึ้นภายหลังนั้น ก็ไม่ใช่การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น หรือสร้างโรงเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอื่นในที่ดินของผู้อื่น แม้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จะกระทำไปโดยสุจริต จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ก็ไม่มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์ได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ และมาตรา ๑๓๑๐ ประกอบมาตรา ๑๓๑๔ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จึงต้อง รื้อออกไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.