คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลแรงงานกลางฟังทนายจำเลยแถลงถึงข้อที่จะสืบ พยานจำเลยปากต่อไปและสั่งงดสืบพยานปากดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นนั้น เป็นดุลพินิจ ที่จะสั่งได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อจำเลยอุทธรณ์ขอให้ทำการสืบพยานจำเลยต่อไป จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 การฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิได้บัญญัติ ไว้ว่า กรณีเช่นไรเป็นกรณีที่ร้ายแรง จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย มาก่อนทั้งในวันเกิดเหตุจำเลยบอกให้โจทก์ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลในเวลาใกล้จะเลิกงานของโจทก์ โดยไม่ได้บอกโจทก์ว่าให้ไปพบด้วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นเร่งด่วนประการใดและหากโจทก์ไม่ไปพบจะเกิดความเสียหายอย่างไรเมื่อโจทก์ไม่ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลตามคำสั่งและขอผัดไปพบในวันรุ่งขึ้นเช่นนี้ แม้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของ นายจ้างก็ไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้ทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า เมื่อจำเลยนำพยานเข้าสืบ 3 ปากแล้วทนายจำเลยแถลงว่ายังติดใจสืบพยานอีก 1 ปาก คือ นายโกวิท สายทองแต่วันนี้ไม่มาศาลขอเลื่อนไปสืบนัดหน้า ศาลแรงงานกลางสอบทนายจำเลยแล้ว ทนายจำเลยแถลงว่าจะสืบนายโกวิทในประเด็นที่ว่า นายโกวิทเป็นพนักงานของจำเลย และโจทก์เคยข่มขู่นายโกวิทว่าจะทำร้ายเนื่องจากนายโกวิทรู้เห็นพฤติการณ์ของโจทก์ ศาลแรงงานกลางเห็นว่านายโกวิทไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุอันสมควร ประกอบกับข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบนั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง จึงให้งดสืบพยาน ความจริงในวันนัด นายโกวิทมาศาล โดยมาถึงศาลเวลา 10 นาฬิกาเศษเหตุที่มาช้าเพราะบ้านอยู่จังหวัดชลบุรี ไม่ชำนาญทาง ไม่เคยมาศาลแรงงานกลางจึงหลงทางศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบนายโกวิทโดยไม่ไต่สวนก่อนจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและนายโกวิทเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นพฤติการณ์ของโจทก์ว่าฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีที่ร้ายแรง อันเป็นประเด็นโดยตรง การที่ศาลแรงงานกลางสั่งว่า ข้อที่จะนำสืบนายโกวิทไม่เกี่ยวกับประเด็น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระบวนพิจารณา เห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานจำเลยหลังจากฟังทนายจำเลยแถลงถึงข้อที่จะนำสืบพยานจำเลยปากนายโกวิทแล้วสั่งงดสืบพยานปากนี้เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นนั้น เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่จะสั่งได้ตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 86 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31เมื่อจำเลยอุทธรณ์ขอให้ทำการสืบพยานจำเลยต่อไป จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยอุทธรณ์ประการหลังว่า โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นประจำทั้งแสดงกิริยามารยาทไม่เกรงกลัวผู้บังคับบัญชาโต้เถียงหัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำอย่างหนึ่งก็แกล้งทำเป็นไม่ได้ยินหรือแกล้งทำอีกอย่างหนึ่งเสมอ และมักหาเหตุหยุดงานเป็นประจำ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2535 โจทก์พูดยุแหย่บิดเบือนให้พนักงานกระด้างกระเดื่องต่อจำเลยและไม่ยอมทำงานในตอนบ่ายประมาณ 50 คน รวมทั้งโจทก์ กรรมผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหารผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม ผู้จัดการฝ่ายบุคคลแจ้งให้นายราชันย์ สวัสดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์โดยตรงสั่งให้โจทก์ไปพบบุคคลดังกล่าวโดยด่วน เพื่อพูดเรื่องดังกล่าวข้างต้น โดยสั่งต่อหน้าพนักงานอื่นเป็นจำนวนมากแต่โจทก์กระด้างกระเดื่องไม่ยอมไปพบ พูดว่าไม่ไปพบหรอก จะเลิกงานอยู่แล้วหากจะปลดก็ปลดไปเลย แล้วแสดงกิริยาไม่ยำเกรง พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกและว่าจะไม่มีรถกลับ นายราชันย์ว่าจำเลยจะจัดรถให้ ถ้าไม่จัดรถจะให้ค่าโดยสาร แต่โจทก์ไม่ไปพบผู้บริหารระดับสูงของจำเลยขณะบอกนั้นเป็นเวลา17.10 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาทำงาน การที่โจทก์พูดเช่นนี้ต่อหน้าพนักงานจำนวนมากทำให้จำเลยเสียหาย เป็นเยี่ยงอย่างแก่พนักงานอื่น จึงถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเห็นว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมาก่อนสำหรับในวันที่ 18 สิงหาคม 2535 จำเลยบอกให้โจทก์ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลเมื่อเวลา 17.10 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาโจทก์ใกล้จะเลิกงานคือเวลา 17.30 นาฬิกา โดยไม่ได้บอกว่าให้ไปพบด้วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นเร่งด่วนประการใดและหากไม่ไปพบจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างไร ทั้งโจทก์ไม่ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลโดยเกรงว่าจะไม่มีรถกลับบ้านและขอผัดไปพบในวันรุ่งขึ้น ปัญหาว่าจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งในกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ นั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 8บัญญัติว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน” ซึ่งจะเห็นได้ว่าการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่า กรณีเช่นไรเป็นกรณีที่ร้ายแรงและกรณีเช่นไรไม่ร้ายแรงจึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ สำหรับคดีนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมาก่อน ทั้งในวันที่18 สิงหาคม 2535 จำเลยบอกให้โจทก์ไปพบผู้จุดการฝ่ายบุคคลเมื่อเวลา 17.10 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาใกล้จะเลิกงานของโจทก์คือเวลา 17.30 นาฬิกา โดยไม่ไ่ด้บอกโจทก์ว่าให้ไปพบด้วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นเร่งด่วนประการใด และหากโจทก์ไม่ไปพบจะเกิดความเสียหายอย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลตามคำสั่งและขอผัดไปพบในวันรุ่งขึ้นเช่นนี้เห็นว่า แม้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยก็ไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรงเมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share