คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1976/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันชีวิตทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย โดยทราบอยู่แล้วว่าตนเป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าว เพราะอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตให้แก่ตน สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่งและเมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมไปยังโจทก์ในฐานะผู้รับผลประโยชน์แล้ว สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะตามป.พ.พ. มาตรา 176

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันชีวิตจำนวน ๓๑๐,๙๒๘ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ผู้เอาประกันชีวิตปกปิดข้อความจริงเกี่ยวกับอาการป่วยของผู้เอาประกันชีวิต หากจำเลยทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวก็จะบอกปัดไม่ทำสัญญาประกันชีวิตหรือเรียกเบี้ยประกันภัยเพิ่ม สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างไปยังโจทก์แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๘ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙) ไม่เกินจำนวน ๑๐,๙๒๘ บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๘,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๘ นางอนงค์ ปาทาน ได้ทำสัญญาประกันชีวิตเป็นเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ กับจำเลย ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ ที-๐๗๓๘๗๗๓๗๐ เอกสารหมายเลย ล.๓ ต่อมาวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๘ นางอนงค์ถึงแก่กรรมด้วยโรคการหายใจและการหมุนเวียนโลหิตล้มเหลวตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมายเลข จ.๑ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า กรมธรรม์ประกันภัยมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาประกันชีวิตให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามใบคำขอประกันชีวิตเอกสารหมายเลข ล.๒ ข้อ ๕ ง. และ ข้อ ๗ นางอนงค์ให้ข้อเท็จจริงต่อนายแพทย์ธวัชชัย ลิ้มพฤติกรรม ผู้ตรวจสุขภาพเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๓๘ ว่า นางอนงค์ไม่เคยเป็นหรือทราบว่าเป็นหรือเคยได้รับคำแนะนำและ/หรือการรักษาโรคอาการเจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง พรายย้ำ โรคเลือด เส้นเลือด หรือโรคหัวใจ และนางอนงค์ไม่เคยตรวจสุขภาพในช่วงเวลา ๕ ปีก่อนนั้น แต่พยานจำเลย ๒ ปาก คือ นายวิษุวัต อุมาภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายสินไหมประกันชีวิต และนายทวีศักดิ์ อุตตมะธนาการ ผู้จัดการฝ่ายพิจารณารับประกัน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อนางอนงค์ถึงแก่กรรมและโจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ดังกล่าวจากจำเลย จำเลยก็ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้ความว่า นางอนงค์เคยมีประวัติรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลเอกชนตามสำเนาบัตรตรวจโรคเอกสารหมาย ล.๔ พยานจำเลยอีกปากหนึ่งคือ นายแพทย์สมศักดิ์ พรเทพเกษมสันต์ เบิกความตอบคำซักถามและคำถามมติว่า นางอนงค์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ๓ ครั้ง คือวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๔ วัดความดันโลหิตได้ ๑๙๐/๑๑๐ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕ วัดความดันโลหิตได้ ๑๗๐/๑๐๐ และวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๓๘ วัดความดันโลหิตได้ ๑๗๐/๑๒๐ โดยนายแพทย์สมศักดิ์เบิกความตอบคำถามค้านทนายความโจทก์ว่า ในการไปรักษาตัวครั้งสุดท้าย นางอนงค์มีอากรแน่นหน้าอก ๓ ชั่วโมง ก่อนไปโรงพยาบาล กินไม่ได้ นอนราบไม่ได้ เป็นอาการของโรคหัวใจ และนางอนงค์ถึงแก่กรรมจากเหตุการหายใจและการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ศาลฎีกาพิเคราะห์คำเบิกความของนายแพทย์สมศักดิ์แล้วเห็นว่า นายแพทย์สมศักดิ์เบิกความตามข้อความที่ปรากฏในบัตรตรวจโรคเอกสารหมาย ล.๔ และให้ความเห็นตามหลักวิชาการแพทย์ อีกทั้งอยู่ในประเด็นแห่งคดีและไม่มีเหตุใดที่ชวนให้ระแวงสงสัยว่านายแพทย์สมศักดิ์เบิกความคลาดเคลื่อนต่อความจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลย นอกจากนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะบุคคลของผู้ป่วยตามที่บันทึกไว้ในเอกสารดังกล่าวเปรียบเทียบกับที่ปรากฏในสำเนามรณบัตรของนางอนงค์ตามเอกสารหมาย จ.๑ ก็ปรากฏว่า ชื่อ อายุและภูมิลำเนาตรงกันจึงรับฟังได้ว่านางอนงค์ ปาทาน ตามบัตรตรวจโรคเอกสารหมาย ล.๔ คือบุคคลเดียวกันกับนางอนง์ ปาทาน ผู้ทำประกันชีวิตไว้กับจำเลยและถึงแก่กรรมในคดีนี้ และน่าเชื่อว่าขณะนางอนงค์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย นางอนงค์ต้องทราบอยู่แล้วว่าตนเป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวเพราะอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตให้แก่ตน สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.๓ จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ วรรคหนึ่ง ส่วนที่โจทก์บรรยายมาในฎีกาอ้างว่า ตามใบคำขอประกันชีวิตเอกสารหมาย ล.๒ ข้อ ๑๔ ได้ผลการตรวจวัดความดันโลหิตของนางอนงค์รวม ๓ ครั้ง คือ ๑๖๐/๑๐๐, ๑๖๐/๑๐๐, และ ๑๖๐/๑๐๕ ซึ่งถือว่าสูงกว่าปกติ จำเลยก็มิได้ปฏิเสธไม่รับทำสัญญาประกันชีวิต เพียวแต่เรียกเก็บเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นเท่านั้น สัญญาประกันชีวิตจึงสมบูรณ์ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้างนั้น ก็เห็นว่า ขณะนั้นจำเลยยังไม่ทราบอาการป่วยที่แท้จริงของนางอนงค์เพราะนางอนงค์ไม่เปิดเผยให้ทราบ โจทก์จึงจะนำมาอ้างเป็นเหตุว่าสัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์แล้วในภายหลังหาได้ไม่ ฉะนั้น เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมไปยังโจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๓๘ เอกสารหมาย ล.๕ สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๖ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share