คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ในเรื่องฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เป็นสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัวจึงตกทอดไปยังทายาทเมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตาย ผู้ร้องเป็นบุตรคนหนึ่งของโจทก์ ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกรวมทั้งสิทธิที่เกี่ยวแก่ทรัพย์สินด้วย จึงมีสิทธิขอเข้ารับมรดกความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้ว่าจำเลยจะเป็นบุตรของโจทก์อีกคนหนึ่งและมีสิทธิรับมรดกด้วย ก็มิได้เป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องในการขอเข้ารับมรดกความแทนโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินเป็นของจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2529 ครั้นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2528 ผู้ร้องเป็นทายาท ขอรับมรดกความแทนโจทก์ จำเลยแถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าบังคับคดีต่อไปได้ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าผู้ร้องกับจำเลยต่างเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ 1 ของโจทก์ผู้ตายเช่นเดียวกัน มารดาของผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสของโจทก์ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนโจทก์นานแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมลงทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหมดรวมทั้งที่ดินสองแปลงที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจึงเป็นมรดกตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยกับผู้ร้องโดยผลของกฎหมายในทันที สิทธิในการรับมรดกความจึงต้องระงับไปด้วยผู้ร้องมีสิทธิเพียงอย่างเดียวคือมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์ดังกล่าวที่จำเลยครอบครองอยู่ หามีสิทธิขอเข้ารับมรดกความอันระงับไปแล้วแทนโจทก์ไม่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและคำพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกความบังคับคดีแทนโจทก์ได้จึงเป็นการมิชอบนั้น พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” เมื่อสิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ผู้ตายในคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ย่อมเป็นสิทธิในทรัพย์สิน มิใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัว สิทธิที่เกี่ยวแก่ทรัพย์สินนี้จึงตกทอดไปยังทายาทเมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตาย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นบุตรคนหนึ่งของโจทก์ ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1) ผู้ร้องย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของโจทก์ซึ่งรวมทั้งสิทธิที่เกี่ยวแก่ทรัพย์สินด้วย ฉะนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้ารับมรดกความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้ว่าจำเลยจะเป็นบุตรของโจทก์อันเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของโจทก์ด้วย ก็มิได้เป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องในการขอเข้ารับมรดกความแทนโจทก์แต่ประการใด”
พิพากษายืน

Share