แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ครั้งแรกจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ด้วยข้อกล่าวหาอัน เป็นเท็จและเป็นการเลิกจ้างที่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อประชาชนกรรมการของจำเลยที่ 1คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีมติให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและให้โจทก์รอการบรรจุไว้ โดยให้รอผลการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างของจำเลยที่ 1 ต่อไป จำเลยที่ 1 จึงได้ออกคำสั่งตามมติของคณะกรรมการ อันเป็นผลให้คำสั่งเดิมไม่มีผลบังคับต่อไป การเลิกจ้างโจทก์โดยคำสั่งครั้งแรกจึงไม่เกิดขึ้น กรณีไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าการเลิกจ้างตามคำสั่งนั้นเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่
จำเลยที่ 1 ประสบภาวะการขาดทุนอย่างรุนแรง จึงเลิกจ้างโจทก์เพื่อเป็นการปรับปรุงงาน และเกิดความประหยัด เป็นการเลิกจ้างเพื่อลดรายจ่ายของจำเลยที่ 1 การเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ลาไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี โดยมีเงื่อนไขต่อกันว่าโจทก์ไม่ขอรับเงินเดือนในระหว่างนั้น โจทก์จึงยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อยู่ โจทก์เดินทางไปแล้วกลับมาขอกลับเข้าทำงานก่อนครบกำหนดลา แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ให้โจทก์เข้าทำงานเนื่องจากเหตุจำเป็นหลายประการ โจทก์จึงมิได้ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 1 กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้ถือปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวนั้นอยู่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างจากจำเลยที่ 1
ตามข้อบังคับองค์การเหมืองแร่ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2522) ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การเหมืองแร่ ข้อ 6.2 ว่าเวลาป่วย ลา พักงานหรือไม่ได้อยู่ปฏิบัติงาน ถ้าเวลาดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ให้นับเป็นเวลาทำงานและให้หักออกจากเวลาทำงาน โจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้ลาไปศึกษายังต่างประเทศโดยไม่ขอรับเงินเดือน โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้นับเวลาทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อนำมาคำนวณอายุการทำงานในการรับเงินบำเหน็จของโจทก์ตามข้อบังคับดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 2ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศมีกำหนด 2 ปี โดยไม่ได้รับเงินเดือน ต่อมาโจทก์ประสบปัญหาจึงเดินทางกลับและขอกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม จำเลยที่ 1 ให้โจทก์รอการปรับปรุงโครงสร้างและกำหนดอัตรากำลังใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งที่ 49/2526 เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ผ่านขั้นตอนของจำเลยที่ 1 และมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ โจทก์ได้อุทธณ์ต่อประธานคณะกรรมการองค์การเหมืองแร่ซึ่งมีมติว่าควรรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้โจทก์กลับเข้าทำงานแต่ให้รอการบรรจุโดยอ้างว่ากำลังปรับปรุงโครงสร้างของจำเลยที่ 1 และให้ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าว โจทก์ได้ขอกลับเข้าทำงานอีก แต่จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งที่ 73/2527 ให้เลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าต้องปรับปรุงโครงสร้างซึ่งไม่เป็นความจริงและไม่เคยมีการปรับปรุงแต่อย่างใด จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมซึ่งโจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ขอกลับเข้าทำงานแต่จำเลยที่ 1 ให้รอการบรรจุ โจทก์จึงยังเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างและตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่าจ้างค้างชำระ เงินบำเหน็จกับดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ขออนุมัติไปศึกษาต่อ จำเลยที่ 1 อนุมัติโดยโจทก์ไม่รับเงินเดือนและมิได้กำหนดให้เก็บตำแหน่งของโจทก์ไว้ด้วย ต่อมาโจทก์ได้ขอกลับเข้าปฏิบัติงาน คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีมติว่า โจทก์ยังมิได้เข้าศึกษาชั้นปริญญาโทครบ 2 ปี ตามที่ได้อนุมัติให้ไปศึกษาต่อ และจำเลยที่ 1 ได้กำหนดตัวบุคคลและอัตรากำลังใหม่ไปแล้วรวมทั้งกำลังปรับปรุงโครงสร้างใหม่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ จึงให้รอการปรับปรุงโครงสร้างและกำหนดอัตรากำลังใหม่ให้เสร็จก่อน แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ประสบภาวะการขาดทุนจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน จึงมีคำสั่งที่ 49/2526 ให้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์อุทธณ์คำสั่งต่อประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการมีมติให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่ให้ระงับการบรรจุโจทก์ไว้ก่อน เพื่อรอผลการปรับปรุงโครงสร้าง ต่อมาเมื่อสำนักงบประมาณได้ร่วมกันปรับปรุงโครงสร้างของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งที่ 73/2527 ให้เลิกจ้างโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างด้วยความจำเป็นเพื่อลดรายจ่าย เพราะจำเลยที่ 1 ประสบภาวะการขาดทุน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ได้ทำงานให้กับจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างส่วนเงินบำเหน็จโจทก์ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อโดยไม่รับเงินเดือน โจทก์จะนำระยะเวลาดังกล่าวมารวมคำนวณมิได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าเดิมจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 49/2526 เลิกจ้างโจทก์ด้วยข้อหาอันเป็นเท็จ หมิ่นประมาทโจทก์และทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง กับเป็นการเลิกจ้างที่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คณะกรรมการจึงมีมติยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจึงได้เกิดขึ้นแล้วตามคำสั่งนี้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่วินิจฉัยถึงคำสั่งนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งที่ 49/2526 ให้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อประธานกรรมการของจำเลยที่ 1ซึ่งจากการพิจารณาของคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีมติให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 49/2526 และให้โจทก์รอการบรรจุไว้โดยให้รอผลการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างของจำเลยที่ 1 ต่อไป จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้ออกคำสั่งที่ 59/2526 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2526 และได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 49/2526 ตามเอกสารหมาย จ.7 ให้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2526 เป็นต้นไปนั้น ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 59/2526 ตามเอกสารหมาย จ.9(2) ให้ยกเลิกคำสั่งที่ 49/2526 ตามเอกสารหมาย จ.7 โดยให้ระงับการบรรจุโจทก์ไว้เพื่อรอผลการปรับปรุงโครงสร้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ดังนั้น จึงมีผลเป็นว่า คำสั่งที่ 49/2526 ไม่มีผลบังคับต่อไป การเลิกจ้างโจทก์โดยคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น เมื่อผลบังคับของคำสั่งเลิกจ้างเกิดขึ้นมิได้เช่นนี้ กรณีก็ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า การเลิกจ้างตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.7 เป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางไม่วินิจฉัยคำสั่งฉบับนี้จึงชอบแล้วฯลฯ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้ประสบภาวะการขาดทุนอย่างรุนแรง การที่จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.12 ให้เลิกจ้างโจทก์ก็ได้อ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าเพื่อเป็นการปรับปรุงงานขององค์การเหมืองแร่และเกิดความประหยัดจึงให้เลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างเพื่อลดรายจ่ายของจำเลยที่ 1 อันเนื่องมาจากประสบภาวะการขาดทุนนั่นเอง การเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
โจทก์อุทธรณ์ประการที่สองว่า การที่ลาไปศึกษาต่อยังต่างประเทศนั้นจำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ และยังสงวนตำแหน่งงานของโจทก์ไว้เมื่อโจทก์กลับจากต่างประเทศและขอกลับเข้าทำงานก่อนครบกำหนดลา โจทก์ชอบที่จะได้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม การที่จำเลยได้ออกคำสั่งที่ 73/2527 ตามเอกสารหมาย จ.12 ให้เลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ต้องรอการบรรจุเป็นเวลา 1 ปี 11 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิเป็นลูกจ้างและมีสิทธิได้รับค่าจ้างตลอดมาจนถึงวันเลิกจ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ลาไปศึกษาต่อยังต่างประเทศมีกำหนดระยะเวลา 2 ปีนั้น ได้มีเงื่อนไขต่อกันว่าโจทก์ไม่ขอรับเงินเดือนในระหว่างลาไว้ด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่โจทก์เสนอต่อจำเลยที่ 1 ดังนั้น การลาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย แม้ว่าโจทก์จะมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อยู่ก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ยังมิได้ให้โจทก์เข้าทำงาน เนื่องจากเหตุจำเป็นหลายประการ โจทก์จึงมิได้ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 1 กรณีจึงยังเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้ถือปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวนั้นอยู่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์อุทธรณ์ประการที่สามว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2527 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จโดยคำนวณอายุการทำงานจนถึงวันเลิกจ้างด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จของโจทก์จะเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับองค์การเหมืองแร่ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2522 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การเหมืองแร่ เอกสารหมาย จ.25 ซึ่งได้กำหนดไว้ในข้อ 6 ว่า ในการนับเวลาทำงานให้ถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
6.1 ให้นับตั้งแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบรรจุในอัตราประจำ
6.2 เวลาป่วย ลา พักงาน หรือไม่ได้อยู่ปฏิบัติงานถ้าเวลาดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ไม่ให้นับเป็นเวลาทำงานและให้หักออกจากเวลาทำงานใน 6.1 ฯลฯ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้ลาไปศึกษาต่อยังต่างประเทศโดยไม่ขอรับเงินเดือนแล้วเช่นนี้ กรณีจึงต้องด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 6.2 ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้นับเวลาทำงานในช่วงเวลาที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อยังต่างประเทศนั้นได้
พิพากษายืน