คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้สัญญาเช่าซื้อระบุว่าหนี้ที่ค้างชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถนั้น ไม่ใช่หนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา596,400 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 48 งวด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดที่ 15จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 380,000 บาท และค่าเสียหาย 149,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 15,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาให้โจทก์ จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่คืนให้ใช้ราคา250,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการที่อาจนำรถยนต์ออกให้เช่าในอัตราเดือนละ 8,000 บาทจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์แต่ไม่เกิน24 เดือน โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา โดยภายหลังยื่นคำร้องขอถอนฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการนำรถคันที่เช่าซื้อให้ผู้อื่นเช่าในอัตราวันละ 500 บาท หรือเดือนละ 15,000 บาท และจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวไปจนกว่าจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์มีพยานบุคคล 1 ปาก เบิกความลอย ๆโดยไม่มีหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนว่าโจทก์อาจนำรถคันดังกล่าวให้เช่าได้ในราคาที่อ้างมาจริง ทั้งไม่แน่นอนว่าจะมีผู้มาเช่ารถจากโจทก์ได้ทุกวัน ส่วนการกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ หากให้โจทก์เรียกได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในกรณีที่จำเลยไม่ส่งรถที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์นั้น ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเพียงผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เท่านั้น ทั้งรถยนต์ก็เป็นทรัพย์ที่เสื่อมราคาและหมดสภาพไปได้ในที่สุด ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ8,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2528 เป็นต้นไปนั้น จึงนับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้วที่โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายขอให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 9 นั้น เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถนั้น ไม่ใช่หนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาข้อ 9 อันจะบังคับให้จำเลยที่ 2 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15แก่โจทก์ได้”
พิพากษายืน

Share