คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติมาตรา 512 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเองหรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคานั้น หมายถึงผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่นำออกขายทอดตลาดนั้นเอง จะเข้าสู้ราคาเอง หรือให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคามิได้โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขายทอดตลาด ย่อมจะเข้าสู้ราคาเองหรือให้บุตรหรือญาติของตนเข้าสู้ราคาได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์จึงบังคับคดียึดทรัพย์รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 5723 ตำบลวังกระโจม อำเภอเมืองนครนายกจังหวัดนครนายก เนื้อที่ 2 งาน 94 ตารางวา เพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ได้มีการขายทอดตลาดโดยติดจำนองหลายครั้งครั้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2528 ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อได้ในราคา850,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่ชำระราคา ศาลชั้นต้นจึงให้ขายทอดตลาดใหม่ และมีการขายทอดตลาดใหม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2528ปรากฏว่านายอ๋า สว่างอริยสกุล เป็นผู้เสนอให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน200,000 บาท ผู้ร้องไม่คัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าราคาต่ำไม่อนุญาตให้ขาย และมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่ วันที่ 30 เมษายน 2528เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดใหม่ ปรากฏว่านางสาวเพ็ญศิริมณีวัฒนา เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 600,000 บาท ซึ่งการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ไม่คุ้มราคาขายชั้นเดิมราคาต่ำไปจำนวน 250,000 บาทและยังต้องเสียค่าประกาศการขายทอดตลาด 150 บาท กับค่ารักษาทรัพย์อีก 2,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินสุทธิไม่คุ้มราคาขายทอดตลาดชั้นเดิม 252,150 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน2528 ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 15 วัน ผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2528 ต่อมาวันที่12 มิถุนายน 2528 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเป็นกรณีนี้มีความว่าผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ขายทอดตลาดครั้งแรกเป็นเงิน 850,000 บาทและเมื่อนำออกขายทอดตลาดใหม่ปรากฏว่าขายได้เพียง 600,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำมากไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาที่แท้จริง เป็นการไม่ชอบและไม่สุจริต เพราะผู้เข้าสู้ราคาล้วนเป็นบุตรภริยาและญาติกับโจทก์จึงร่วมกันกดราคาซื้อให้ต่ำลง ทั้งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้เข้าสู้ราคาแทนโจทก์ เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา512 ดังนั้น การขายทอดตลาดครั้งหลังย่อมไม่สมบูรณ์ ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด และให้มีการขายทอดตลาดใหม่
โจทก์และนายชิต บำรุงจิต เจ้าพนักงานบังคับคดีต่างยื่นคำคัดค้านเป็นทำนองเดียวกันว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอยกเลิกการขายทอดตลาด เพราะผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสีย การขายทอดตลาดกระทำโดยสุจริต เปิดเผย ถูกต้องตามระเบียบ และผู้เข้าสู้ราคามิได้เป็นผู้ต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งในการขายทอดตลาดครั้งหลังเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2528 ผู้ร้องได้ทราบถึงการขายทอดตลาดในวันดังกล่าวนั้นแล้ว แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอยกเลิกการขายทอดตลาดและให้มีการขายทอดตลาดใหม่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2528 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 8 วันตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องผู้ร้องทราบถึงการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2528 แต่มายื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2528 จึงเกินกำหนดระยะเวลา 8 วัน นับแต่วันทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้นั้นความต้องปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต หรือดำเนินการขายทอดตลาดโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติและข้อบังคับที่กำหนดไว้ว่าด้วยวิธีการขายทอดตลาดเท่านั้น กรณีนี้ปรากฏว่า หลังจากที่ผู้ร้องไม่ชำระราคาและมีการขายทอดตลาดใหม่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2528 มีผู้เสนอราคาถึง 10ครั้ง แต่มีผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 200,000 บาทซึ่งในการขายทอดตลาดครั้งนี้ ปรากฏว่าผู้ร้องอยู่รู้เห็นด้วยแต่ก็ไม่ได้คัดค้านว่าราคาที่มีผู้เสนอสูงสุด 200,000 บาทนั้นเป็นราคาที่ต่ำไป ทั้ง ๆ ที่ราคาต่ำกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อถึง 650,000 บาทแต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าราคาต่ำไปจึงมีคำสั่งให้มีการขายทอดตลาดใหม่อีก และในการขายทอดตลาดใหม่ครั้งนี้ปรากฏว่านางสาวเพ็ญศิริเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดถึง 600,000 บาท มากกว่าการขายทอดตลาดใหม่ครั้งแรกที่ผู้ร้องไม่คัดค้านถึง 400,000 บาท แม้จะต่ำกว่าราคาที่ผู้ร้องซื้อทอดตลาดได้แต่เดิม 240,000 บาท ซึ่งในการขายทอดตลาดแต่ละครั้งก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต หรือดำเนินการขายทอดตลาดโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ และข้อบังคับที่กำหนดไว้ว่าด้วยวิธีการขายทอดตลาดแต่ประการใด สำหรับข้อที่ผู้ร้องอ้างว่า การขายทอดตลาดใหม่ครั้งหลังเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2528 เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเองหรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคานั้น หมายถึงผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่นำออกขายทอดตลาดนั้นเอง จะเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคามิได้ สำหรับกรณีนี้โจทก์มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขายทอดตลาด แต่เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น โจทก์ย่อมจะเข้าสู้ราคาเองหรือให้บุตรภริยาหรือญาติของตนเข้าสู้ราคาได้ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขายทรัพย์ให้แก่นางสาวเพ็ญศิริ มณีวัฒนาเป็นเงิน 600,000 บาท เป็นราคาที่ต่ำมากเพราะผู้สู้ราคาไม่สุจริตมีการสมรู้กดราคาให้ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยชอบได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสียนั้น ชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share