แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของจำเลยร่วมอ้างว่าจำเลยและ ท. มารดาของจำเลยร่วมได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก จ. มาตั้งแต่ปี 2490 แต่มิได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว จ.ได้ส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย และ ท.จำเลยและ ท. ได้ครอบครองใช้ทำประโยชน์ตลอดมาจนได้กรรมสิทธิ์แล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ ต่อมา ท.ถึงแก่ความตายจำเลยร่วมผู้เป็นบุตรของ ท. จึงได้ครอบครองต่อซึ่งมีลักษณะเป็นเจ้าของร่วมมีฐานะเดียวกันกับจำเลย และในตอนท้ายของคำร้องก็ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมจึงเป็นการร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ไม่ใช่เป็นการเข้ามาในฐานะที่เป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57(1)เมื่อขอเข้ามาตามมาตรา 57(2) จึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วม เมื่อจำเลยให้การโดยมิได้ฟ้องแย้งจำเลยร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องแย้งโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายจรูญ สีบุญเรือง ตามคำสั่งศาล นายจรูญกับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 8471 และสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 4351 โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อเมื่อปี 2487แล้วให้จำเลยเป็นผู้ดูแลปลูกบ้านขึ้นอีก 1 หลัง ใช้อยู่อาศัยตลอดมาเมื่อต้นปี 2533 ร้อยตรีประจักษ์ สีบุญเรือง ผู้จัดการมรดกคนก่อนของนายจรูญกับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 ได้ให้จำเลยทำหลักฐานการขออาศัยในที่ดินดังกล่าวไว้ จำเลยบ่ายเบี่ยงเรื่อยมาในที่สุดได้กล่าวอ้างว่านายจรูญขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ตนแล้ว ซึ่งเป็นความเท็จ โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารย้ายออกไปจากที่ดินแปลงนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการนำที่ดินออกให้เช่าขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 4351 และที่ดินโฉนดเลขที่ 8471 แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นับถึงวันฟ้อง 90,000 บาทและชดใช้เป็นรายเดือนอีกเดือนละ 45,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะย้ายออกไป
จำเลยให้การว่า เมื่อประมาณปลายปี 2489 นางท้อ แซ่เบ๊ภรรยาของจำเลยได้ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากนายจรูญสีบุญเรือง นายจรูญได้มอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้นางท้อ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ นางท้อและจำเลยได้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยความสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันกว่า 40 ปีจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและหากโจทก์เสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
นางจารุณี ศรีสุนทร นายวีระชัย สุจีรกุลกิจ นางวันทนีย์สุขศรีวงศ์ นายวีระยุทธ สุจีรกุลกิจ และนางสุวรรณา สุขุมวาทยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องทั้งห้าเป็นบุตรของนางท้อกับจำเลยเมื่อนางท้อตายผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทร่วมกับจำเลยต่อจากนางท้อตลอดมา ผู้ร้องทั้งห้ากับจำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทร่วมกันจำเลยร่วมทั้งห้าจึงมีส่วนได้เสียตามกฎหมายร่วมกับจำเลยขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งห้ายื่นคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับคำให้การจำเลยร่วมทั้งห้า ส่วนฟ้องแย้งเนื่องจากจำเลยมิได้ใช้สิทธิฟ้องแย้ง ดังนั้น จำเลยร่วมทั้งห้าจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องแย้งได้ ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยร่วมทั้งห้า
จำเลยร่วมทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยร่วมทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมทั้งห้าว่า จำเลยร่วมทั้งห้ามีสิทธิฟ้องแย้งหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ตามคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของจำเลยร่วมทั้งห้าอ้างว่า จำเลยและนางท้อ แซ่เบ๊หรือสินธพหรือสินธบ มารดาของจำเลยร่วมทั้งห้าได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนายจรูญ สีบุญเรือง มาตั้งแต่ปี 2490 แต่มิได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้วนายจรูญได้ส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยและนางท้อ จำเลยและนางท้อได้ครอบครองใช้ทำประโยชน์ตลอดมาจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อมานางท้อได้ถึงแก่ความตาย จำเลยร่วมทั้งห้าผู้เป็นบุตรของนางท้อจึงได้ครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อมาซึ่งมีลักษณะเป็นเจ้าของร่วมมีฐานะเดียวกันกับจำเลยและในตอนท้ายของคำร้องจำเลยร่วมทั้งห้าก็ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของจำเลยร่วมทั้งห้าเห็นได้ชัดแจ้งว่า จำเลยร่วมทั้งห้าได้ร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2) หาใช่เป็นการร้องขอเข้ามาในฐานะที่เป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57(1) แต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยร่วมทั้งห้าขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 57(2) จึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วม เมื่อจำเลยให้การโดยมิได้ฟ้องแย้ง จำเลยร่วมทั้งห้าจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องแย้งโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน