คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3645/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทุกคนรวมทั้ง ม. และ ป. ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2551 โดยระบุเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์ประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรงไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เท่ากับโจทก์ประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุดังกล่าวเป็นเหตุเลิกจ้าง แม้ต่อมาโจทก์จะมีหนังสือยกเลิกการเลิกจ้างไปถึง ม. และ ป. ก่อนวันที่การเลิกจ้างมีผลก็ตาม แต่ในหนังสือดังกล่าวอ้างเหตุจำเป็นต้องจ้าง ม. และ ป. ต่อไปเพื่อดำเนินงานบางส่วนให้แล้วเสร็จ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และลูกค้าของโจทก์ โดยกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 อันมีลักษณะเป็นการจ้างทำงานต่อเพื่อให้งานที่มีอยู่ก่อนปิดกิจการเสร็จไปเท่านั้น เหตุผลในการเลิกจ้าง ม. และ ป. เมื่อครบระยะเวลาจ้างต่อจึงยังคงเป็นเหตุเดิมคือเหตุปิดกิจการนั่นเอง ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเพิ่งทราบภายหลังการประกาศเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดว่าเครื่องจักรของโจทก์หายไปและเชื่อว่า ม. กับ ป. มีส่วนในการลักเครื่องจักร เป็นการพ้นวิสัยที่จะแจ้งเหตุเลิกจ้างว่าจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง กรณีไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องแจ้งเหตุเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ยังอยู่ในช่วงเวลาก่อนวันที่มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และก่อนสิ้นระยะเวลาที่โจทก์จ้าง ม. กับ ป. ให้ทำงานต่อ จึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์อาจแจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ให้ ม. และ ป. ทราบในขณะเลิกจ้าง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะยกเหตุดังกล่าวมาอ้างในภายหลังเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ม. และ ป. ได้เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 120/2551 เรื่องค่าชดเชย ระหว่างนางสาวประนอมและนางมลฑา ลูกจ้างกับโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 1 ฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป นางมลฑาทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ตั้งแต่ปี 2530 นางสาวประนอมเป็นลูกจ้างของโจทก์ตั้งแต่ปี 2535 การประกอบกิจการของโจทก์ประสบภาวะขาดทุน มีหนี้สินจำนวนมาก วันที่ 30 มิถุนายน 2551 โจทก์จึงประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด ให้มีผลวันที่ 1 สิงหาคม 2551 หลังปิดกิจการโจทก์ต้องทำการสำรวจทรัพย์สินต่าง ๆ จึงว่าจ้างลูกจ้างบางส่วนรวมทั้งนางมลฑาและนางสาวประนอมให้ทำงานต่อไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 โดยมีหนังสือยกเลิกการเลิกจ้างลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ไปถึงนางมลฑาและนางสาวประนอมขอให้ไปปฏิบัติงานตามปกติ หลังจากนางมลฑาและนางสาวประนอมทำงานครบกำหนดเวลาจ้างแล้ว โจทก์ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ จึงไปยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยเรียกโจทก์มาสอบถามได้ความว่า เดือนกรกฎาคม 2551 โจทก์ตรวจสอบพบว่าเครื่องจักรของโจทก์หายไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 และเชื่อว่านางมลฑากับนางสาวประนอมมีส่วนรู้เห็นในการลักเครื่องจักรของโจทก์ โดยโจทก์แจ้งความดำเนินคดีแก่นางมลฑากับนางสาวประนอมแล้ว จำเลยเห็นว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างโดยอ้างเหตุปิดกิจการไม่มีการกล่าวอ้างเหตุว่านางมลฑากับนางสาวประนอมกระทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง จึงมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 120/2551 เรื่องค่าชดเชย ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่นางมลฑาเป็นเงิน 232,000 บาท และจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวประนอมเป็นเงิน 180,000 บาท นอกจากนี้ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลักเครื่องจักรของโจทก์ว่า แม้นางมลฑาลงชื่ออนุมัติในเอกสารให้นำเครื่องจักรออกไปจากบริษัทโจทก์ แต่นางมลฑากระทำไปตามสายงานบังคับบัญชาของโจทก์ โดยก่อนลงชื่อนางมลฑาได้โทรศัพท์สอบถามกรรมการโจทก์แล้วอนุมัติให้ผ่านเครื่องจักรออกไปได้ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นว่านางมลฑาร่วมทุจริตหรือลักเครื่องจักรไป ส่วนนางสาวประนอมเป็นภรรยาของนายอุทิศที่ขับรถบรรทุกเครื่องจักรออกไปก็ไม่มีพฤติการณ์บ่งชี้ว่าร่วมกระทำผิด การแจ้งความดำเนินคดีแก่นางมลฑาและนางสาวประนอมไม่ปรากฏผลว่าเจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่บุคคลทั้งสอง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่ชัดแจ้งว่ามีการกระทำอันเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่นางมลฑาและนางสาวประนอมด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์สามารถยกเหตุจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้างนางมลฑาและนางสาวประนอมได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทุกคนรวมทั้งนางมลฑาและนางสาวประนอมตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2551 โดยระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์ประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรงไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เท่ากับโจทก์ประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในประกาศเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้าง แม้ต่อมาโจทก์มีหนังสือยกเลิกการเลิกจ้างไปถึงนางมลฑาและนางสาวประนอมก่อนวันที่การเลิกจ้างตามประกาศมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ก็ตาม ในหนังสือดังกล่าวของโจทก์อ้างเหตุจำเป็นต้องจ้างนางมลฑาและนางสาวประนอมต่อไปเพื่อดำเนินงานบางส่วนของโจทก์ให้แล้วเสร็จ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และลูกค้าของโจทก์ได้ โดยกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 อันมีลักษณะการจ้างทำงานต่อเพื่อให้งานของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนปิดกิจการเสร็จไปเท่านั้น เหตุผลในการเลิกจ้างนางมลฑาและนางสาวประนอมเมื่อครบระยะเวลาจ้างต่อแล้วจึงยังคงเป็นเหตุเดิมคือเหตุปิดกิจการนั่นเอง ข้อที่โจทก์อ้างเพิ่งทราบว่าเครื่องจักรของโจทก์หายไปและเชื่อว่านางมลฑากับนางสาวประนอมมีส่วนในการลักเครื่องจักรของโจทก์ภายหลังการประกาศเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดแล้ว เป็นการพ้นวิสัยที่จะแจ้งเหตุเลิกจ้างว่าจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง กรณีไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องแจ้งเหตุเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างนั้น ได้ความตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 1 ฟังมาสอดคล้องกับคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ทราบเรื่องเครื่องจักรหายโดยนางมลฑากับนางสาวประนอมมีส่วนรู้เห็นร่วมในการลักเครื่องจักรไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ยังอยู่ในช่วงเวลาก่อนวันที่มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และก่อนสิ้นระยะเวลาที่โจทก์จ้างนางมลฑากับนางสาวประนอมให้ทำงานต่อ อยู่ในวิสัยที่โจทก์อาจแจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ให้นางมลฑากับนางสาวประนอมทราบในขณะเลิกจ้าง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะยกเหตุดังกล่าวมาอ้างในภายหลังเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางมลฑากับนางสาวประนอมได้เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share