คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 57และ 58 ต่างบัญญัติอยู่ในหมวดเดียวกันว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้ง มาตรา 57 เป็นเรื่องตัวบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งและระยะเวลาการคัดค้าน ส่วนมาตรา 58 เป็นเรื่องการดำเนินการพิจารณาและการมีคำสั่งของศาลซึ่งอาจทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครของจำเลยที่ 1 และประกาศเรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครของจำเลยที่ 1เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวก็เพื่อจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 58 นั่นเอง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องและมีคำสั่งตามมาตรา 58 แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอย่างไรก็ตาม หากศาลได้แจ้งคำสั่งไปยังเทศบาลผู้ประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้วคำสั่งที่แจ้งไปนั้นย่อมเป็นที่สุด คู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 58 จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 และประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2542เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองทั้งสอง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง และศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่ากรณีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า ทั้งมาตรา 57 และมาตรา 58 ดังกล่าวต่างบัญญัติอยู่ในหมวดเดียวกัน ว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้ง มาตรา 57 เป็นเรื่องตัวบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งและระยะเวลาการคัดค้าน ส่วนมาตรา 58 เป็นเรื่องการดำเนินการพิจารณาและการมีคำสั่งของศาล ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ที่โจทก์ยื่นฟ้องเข้ามาเป็นคดีนี้ก็เพื่อจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 58 นั่นเอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องและมีคำสั่งตามมาตรา 58 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะสั่งอย่างไรก็ตาม หากได้แจ้งคำสั่งไปยังเทศบาลผู้ประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว คำสั่งที่แจ้งไปนั้นย่อมเป็นที่สุดทุกกรณี คู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 58 จึงไม่ชอบ

พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์

Share