แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นที่บริษัทผู้เสียหายซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมามีการนำเช็คที่ถูกลักไปเข้าบัญชีของ ป. ที่ธนาคาร ก. สาขาสมุทรปราการ ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เพื่อเรียกเก็บเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัทผู้เสียหายที่ธนาคาร ก. สาขาปู่เจ้าสมิงพราย ตั้งอยู่ที่ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป รวมทั้งเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) (4) ซึ่งพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้เป็นผู้รับคำร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้จึงมีอำนาจสอบสวนและโอนการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนต่อไป เมื่อจับจำเลยได้ตามหมายจับ การสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 266, 268, 335 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาเช็ค 1 ฉบับ ราคา 15 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 226 (4), 268 วรรคแรก, 335 (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมแต่เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 5 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาเช็คเป็นเงิน 15 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า คดีไม่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงไม่ลดโทษให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนที่จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า นายสมภพ เป็นพนักงานส่งเอกสารของบริษัทฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้เสียหายซึ่งดูแลระบบการเงินและบัญชีของบริษัทฮีดากา รีไซเคิล อ๊อฟ เอเชีย จำกัด และบริษัทในเครือ นายสมภพลักแบบพิมพ์เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาปู่เจ้าสมิงพราย เลขที่ 3200341 ของบริษัทฮีดากา รีไซเคิล อ๊อฟ เอเชีย จำกัด ซึ่งอยู่ในครอบครองของผู้เสียหายและต่อมามีผู้นำเช็คฉบับดังกล่าวซึ่งระบุจำนวนเงิน 850,035 บาท ลงวันที่สั่งจ่ายและปลอมลายมือชื่อนายยาซูโอะ ผู้มีอำนาจลงนามในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่นายประดิษฐ์พงษ์ ฝากเข้าบัญชีของนายประดิษฐ์พงษ์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรปราการ เพื่อเรียกเก็บเงินแทนและธนาคารตามเช็คหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงจึงโอนเงินตามเช็คเข้าบัญชีเงินฝากของนายประดิษฐ์พงษ์และมีการถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากในเวลาต่อมา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่คัดค้านว่า พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนและบริษัทผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลชั้นต้นอ้างว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ ที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้รับคำร้องทุกข์และต่อมาได้โอนการสอบสวนไปให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการสอบสวน จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งทนายจำเลยยังได้ถามค้านพนักงานสอบสวนพยานโจทก์เกี่ยวกับขั้นตอนการสอบสวนดังกล่าว และจำเลยยังยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องผู้เสียหาย โดยศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อคัดค้านของจำเลยทั้งสองข้อดังกล่าวไว้ในคำพิพากษา ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยโดยเหตุผลว่า เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาทั้งสองข้อดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษา สำหรับปัญหาข้อแรกเรื่องเขตอำนาจสอบสวนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นที่บริษัทผู้เสียหายซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมามีการนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีของนายประดิษฐ์พงษ์ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรปราการ ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เพื่อเรียกเก็บเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัทผู้เสียหายที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป รวมทั้งเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) (4) ซึ่งพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้เป็นผู้รับคำร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้จึงมีอำนาจสอบสวนและโอนการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนต่อไป เมื่อจับจำเลยได้ตามหมายจับ การสอบสวนดังกล่าวมาข้างต้นจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบรับฟังว่า การที่นายสมภพลักเช็คของบริษัทฮีดากา รีไซเคิล อ๊อฟ เอเชีย จำกัด ซึ่งอยู่ในครอบครองของบริษัทฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้เสียหาย เกิดจากการที่จำเลยบอกนายสมภพให้นำเช็คไปให้จำเลยเพื่อปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำไปเรียกเก็บเงิน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมในขณะที่นายสมภพกระทำความผิดหรือแบ่งแยกหน้าที่อย่างใดในการลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยใช้ให้นายสมภพกระทำความผิด เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ จึงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหานี้ขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง เมื่อจำเลยเป็นผู้สนับสนุนนายสมภพในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว จำเลยเป็นผู้ปลอมเช็คโดยกรอกข้อความและจำนวนเงินในเช็คกับปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็ค แล้วได้รับเงิน 850,035 บาท ไป เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะได้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของบริษัทฮีดากา รีไซเคิล อ๊อฟ เอเชีย จำกัด เป็นหลัก การกระทำต่าง ๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อจะให้ได้เงินไปเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4), 334 ประกอบมาตรา 86 เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้ตั๋วเงินปลอมจึงให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1