คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รถยนต์ของโจทก์และจำเลยชนกันขณะที่แล่นสวนทางกันในที่เกิดเหตุปรากฏว่าหัวรถยนต์ทั้งสองคันอยู่กลางถนนส่วนท้ายของรถยนต์สองคันปัดไปอยู่ริมถนนทางซ้ายมือของแต่ละคันแสดงว่าความแรงที่ชนกันทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเคลื่อนที่ไปไม่ได้อยู่คงที่สภาพของถนนเป็นที่ดินลูกรังมีฝุ่นฟุ้งตลบเมื่อรถยนต์วิ่งสวนทางกันจนไม่สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้ชัดเจนถนนที่เกิดเหตุเป็นทางแคบมีช่องทางเดินรถอยู่สองช่องใช้แล่นสวนทางกันรถยนต์ทั้งสองคันแล่นสวนทางกันด้วยความเร็วไม่ได้ชะลอความเร็วลงจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของรถยนต์ทั้งสองฝ่ายซึ่งมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากันความรับผิดในค่าเสียหายจึงเป็นพับกันไปทั้งสองฝ่าย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2520 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน อ.บ. 06661 บรรทุกข้าวเปลือกแล่นไปถึงระหว่างหมู่บ้านโปร่งเย็น และหมู่บ้านนาเพียง ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ถนนตอนนั้นเป็นถนนหินลูกรังมีฝุ่นหนาและถนนแคบ จำเลยที่ 2ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวตามหลังรถยนต์ที่แล่นไปข้างหน้าด้วยความเร็วและขับกินทางเข้าไปทางด้านขวามือไม่ให้สัญญาณใด ๆ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 2 ขับ พุ่งเข้าชนรถบรรทุกขนาด 6 ล้อ หมายเลขทะเบียนก.ท.พ.-5608 ของโจทก์ ซึ่งมีนายสมนึก บรรณบดีเป็นผู้ขับ รถยนต์ของโจทก์เสียหายทั้งคันจนไม่สามารถจะซ่อมแซมได้คิดเป็นค่าเสียหาย80,544 บาท จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไปเงิน 80,544 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,041บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียน อ.บ.0661 แต่เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาคอิสาน อุบล (ตังปัก) ซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าซื้อมา จำเลยที่ 1 ได้นำไปประกันภัยไว้กับบริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัด จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะผู้เช่าซื้อ ก็เป็นหน้าที่ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในฐานะการรับประกันภัยค้ำจุน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นได้ออกหมายเรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การปฏิเสธ และขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2เหตุที่รถทั้งสองคันชนกัน เพราะนายสมนึกได้ขับรถยนต์ของโจทก์แล่นกินทางเข้าไปในช่องทางเดินรถของจำเลยที่ 25 รถยนต์ของโจทก์จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้พิเคราะห์คำพยานของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย และคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวิชิต นภามาศ พยานโจทก์ซึ่งได้รับแจ้งเหตุรถยนต์ชนกันและมีคนตาย ร้อยตำรวจเอกวิชิตได้ไปดูที่เกิดเหตุพบรถยนต์สองคันชนกันในลักษณะหัวรถยนต์จ่อกันกลางถนนท้ายรถแต่ละคันเบนไปทางซ้ายของถนนตอนไปดูที่เกิดเหตุ ร้อยตำรวจเอกวิชิตมองไม่เห็นจุดที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันเพราะคนมุงดูมาก เห็นว่าจากคำพยานของโจทก์ก็ดี ของฝ่ายจำเลยก็ดี และคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวิชิตก็ดี ยังฟังข้อเท็จจริงไม่ได้แน่นอนว่าขณะที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันนั้น ชนกันอย่างไร จุดที่ชนอยู่ตรงไหน ไม่มีใครทราบ จะอย่างไรก็ตามในขณะที่รถยนต์ทั้งสองชนกัน หัวรถยนต์สองคันอยู่กลางถนนและส่วนท้ายรถยนต์สองคันปัดไปอยู่ริมถนนด้านทางซ้ายมือของแต่ละคัน ทำให้เห็นว่าความแรงที่ชนกันทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเคลื่อนที่ไปไม่ได้อยู่คงที่ สภาพของถนนเป็นดินลูกรังมีฝุ่นฟุ้งตลบเมื่อรถยนต์วิ่งสวนทางกันจนไม่สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้ชัดเจน และจากสภาพความเสียหายที่รถยนต์ทั้งสองได้รับแสดงให้เห็นว่ารถยนต์ทั้งสองคันขับแล่นมาเร็วมาก ทั้ง ๆ ที่ทางข้างหน้ามีฝุ่นจนมองไม่เห็น ถนนตรงที่เกิดเหตุเป็นทางแคบ กว้างเพียง 5.50 เมตร มีช่องทางเดินรถอยู่สองข้าง ใช้แล่นสวนทางกันกว้างช่องละประมาณ 2.75 เมตร หากรถยนต์ทั้งสองคันจอดเรียงกันบนถนนแล้วจะเหลือความห่างกันเพียง 60เซนติเมตรเท่านั้น และทั้งสองฝ่ายก็นำสืบถึงจุดชนที่แน่นอนไม่ได้ดังนี้จึงเห็นว่ารูปเรื่องคงเป็นว่ารถยนต์ทั้งสองคันแล่นสวนทางกันด้วยความเร็ว ไม่ชะลอความเร็วของรถยนต์ทั้งสองฝ่ายให้ช้าลงเลยประกอบกับมีฝุ่นตลบมองไม่เห็นทางข้างหน้าดังกล่าวข้างต้น รถยนต์ทั้งสองฝ่ายจึงคงต่างขับแล่นกินทางซึ่งกันและกันจึงได้เกิดชนกันขึ้นจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของรถยนต์ทั้งสองฝ่าย หาใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ และความประมาทเลินเล่อของทั้งสองฝ่ายมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะรถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์เก่าที่ใช้งานมานาน ส่วนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นรถยนต์ที่อยู่ในสภาพค่อนข้างใหม่เพราะเพิ่งเช่าซื้อมา พ.ศ. 2517 จึงเห็นควรให้ค่าเสียหายเป็นพับกันไปทั้งสองฝ่าย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share