คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การคำนวณราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่ว่าเพื่อเสียค่าธรรมเนียมศาลหรืออุทธรณ์ฎีกา ต้องคำนวณตามราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ตามความเป็นจริง
ตามคำฟ้อง คำให้การและแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ของที่พิพาทระบุเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ในการเสียค่าขึ้นศาลคู่ความ ได้ คิดราคาที่ดินโดยคำนวณตามเนื้อที่ประมาณ 51,000 บาท เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดได้เนื้อที่ชัดเจนว่า 1 ไร่ 1 งาน73 ตารางวา จึงถือว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันคือราคาที่ดินที่มีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 73 ตารางวา การที่จำเลยกำหนดราคาที่ดิน 2 ไร่ เป็นเงิน 51,000 บาท จึงมีราคาไร่ละ 25,500 บาทราคาที่ดินพิพาททั้งแปลงคือ 36,528.75 บาท จึงต้องถือว่าราคาทรัพย์สิน หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ในชั้นฎีกาจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2(ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 162 ได้รับมรดกจากนางสี บุตรจันทร์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2510 โดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของที่ดิน หลังจากนั้นได้ครอบครองทำประโยชน์โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ต่อมาจำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปปักเสารั้วลวดหนามทางทิศใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ และเข้าทำประโยชน์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้ หากโจทก์นำไปให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 บาท ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 162ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ10 ไร่ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 1,000 บาทนับตั้งแต่วันทำละเมิดจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินประมาณ 2 ไร่ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกนั้น เป็นของจำเลยทั้งสองที่ได้รับมาจากนายทูล กตัญญู เมื่อปี 2504 และได้ครอบครองทำประโยชน์โดยล้อมรั้วทั้ง 4 ด้าน ปลูกกระท่อมอยู่อาศัย 1 หลัง การครอบครองของจำเลยทั้งสองเป็นการครอบครองโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 34 ปี โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เมื่อปี 2538 นายสุภี ศรีสุขบุตรโจทก์เข้าไปตัดต้นไม้ที่จำเลยทั้งสองปลูกไว้ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ซึ่งบุตรโจทก์ยอมรับต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าได้บุกรุกที่ดินของจำเลยทั้งสองและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้2,500 บาท ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่า ที่ดินมุมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตามแผนที่สังเขปที่ดินพิพาทเอกสารท้ายคำฟ้องโจทก์หมายเลข 1(ที่ดินแปลง ส.ค.1 เลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบจังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่) เป็นของจำเลยทั้งสอง ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งขาดอายุความเพราะโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2510 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ28 ปีแล้ว จำเลยทั้งสองเพิ่งฟ้องแย้งโจทก์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม2538 ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นายอำคา อุปมาบุตรของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบจังหวัดอุบลราชธานี เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,500 บาท คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องแย้งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยทั้งสองคืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ 2 ไร่ จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยบุกรุกนั้น เป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบจังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ 2 ไร่ เป็นของจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองรับว่าที่ดินพิพาทมีราคาไร่ละประมาณ 25,000 บาท โดยคู่ความตกลงกันกำหนดราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน 51,000 บาท และต่างก็เสียค่าธรรมเนียมศาลฝ่ายละ 1,275 บาท คดีนี้จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันราคา 51,000 บาทย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดเอาเนื้อที่ดินพิพาทตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดว่ามีเนื้อที่ 1 ไร่เศษ และเห็นว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาทจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่จำเลยทั้งสองก็ให้การว่าที่ดินเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกเป็นที่ดินของจำเลยตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ดังกล่าวก็ระบุว่ารูปที่ดินโดยประมาณมีเนื้อที่ 2 ไร่ เพราะการแจ้งการครอบครองที่ดินเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินไปแจ้งต่อกำนันผู้ปกครองท้องที่ว่าผู้แจ้งได้ครอบครองที่ดินมีเนื้อที่เท่าใด โดยไม่ได้มีการรังวัดสอบเขตว่าตามความจริงที่ดินที่ได้แจ้งการครอบครองนั้นมีเนื้อที่จำนวนเท่าใดแน่ จึงเป็นการประมาณเอาเท่านั้น ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 28 กันยายน 2538 ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเห็นชอบในการที่ศาลชั้นต้นให้เจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดที่ดินส่วนที่พิพาทกัน เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดแล้วก็ได้ทำแผนที่พิพาทขึ้นตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างก็ยอมรับว่าแผนที่พิพาทดังกล่าวถูกต้องตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 28 ธันวาคม 2538 และเอกสารหมาย จ.ล.1/5 จ.ล.1/6 ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ระบุว่าที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ดินที่พิพาทกันมีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 73 ตารางวา ดังนั้น จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกและจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นของจำเลยทั้งสองมีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 73 ตารางวา การคำนวณราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่ว่าเพื่อเสียค่าธรรมเนียมศาลหรืออุทธรณ์ฎีกาต้องคำนวณตามราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ตามความเป็นจริง สำหรับคดีนี้ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าทั้งตามคำฟ้อง คำให้การและเนื้อที่ที่ระบุไว้ในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 15 ฯลฯ ที่ว่ามีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เป็นเรื่องของการประมาณโดยในการเสียค่าขึ้นศาลคู่ความได้คิดราคาที่ดินโดยคำนวณตามเนื้อที่เห็นได้จากคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยระบุว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีราคาประมาณ51,000 บาท และเมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งก็คำนวณราคาที่ดินมาเป็นไร่ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดได้เนื้อที่ชัดเจนว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 73 ไร่ตารางวา ก็ต้องถือว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีนี้คือราคาที่ดินที่มีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 73 ตารางวา การที่จำเลยทั้งสองกำหนดราคาที่ดิน 2 ไร่ มาเป็นเงิน 51,000 บาท ที่ดินพิพาทจึงมีราคาไร่ละ 25,500 บาท ราคาที่ดินพิพาททั้งแปลงคือ 36,528.75 บาท ก็ต้องถือว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้มีทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้นจำนวน 36,528.75 บาทซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 912.50 บาท แต่โจทก์และจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นฝ่ายละจำนวน 1,275 บาท และในชั้นฎีกาจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2(ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 1,275 บาท เช่นกัน จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแทนโจทก์จำนวน 2,500 บาท ก็เกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายละจำนวน 362.50 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองจำนวน 1,075 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ 1,500 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share