คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารความว่า เงินรายมรดกมารดาฯลฯ ขอสัญญาว่าจะไม่เกี่ยวข้องมรดกรายนี้ หมายความว่า ไม่เกี่ยวข้องเฉพาะมรดกที่เป็นเงินไม่รวมถึงที่ดิน การตีความเช่นนี้เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งจะต้องเสียในมูลหนี้นั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยจากที่ดินที่จำเลยอาศัยจำเลยต่อสู้ว่าเป็นที่ดินมรดก และฟ้องแย้งขอแบ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้แบ่งที่ดินมรดกคนละครึ่งตามฟ้องแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย จำเลยฎีกา มีปัญหาเกี่ยวกับการแปลเอกสารซึ่งโจทก์ว่าจำเลยทำให้ไว้เป็นการสละมรดก เพราะได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

“ในประเด็นข้อ ข. นั้น จำเลยนำสืบว่า ก่อนนางคำตายนางคำได้เอาเรือกระแชงของจำเลยไปขาย จำได้เลา ๆ ว่า ราคาราว 7 ชั่ง และนางคำเอาเงินนั้นไว้จนกระทั่งตาย หลังจากนั้นจำเลยได้ขอเงินจำนวนนี้จากนางกิมไล้และโจทก์ จะรับมาเท่าใดจำไม่ได้ และจะได้ทำหนังสือหรืออย่างไรก็จำไม่ได้ เพราะนานมาแล้วต่อจากนั้นก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกับเงินอีกเลย

โจทก์นำสืบว่า จำเลยบอกว่าไม่ได้รับมรดกอะไร ขอแบ่งบ้างโดยขอเงิน800 บาท โจทก์ตกลงให้ 600 บาท จำเลยได้ทำเอกสารหมาย จ.1 ให้ไว้ และในเอกสารนั้นได้ระบุไว้ว่าจำเลยจะไม่มาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีก

เอกสารหมาย จ.1 นี้ ทางพิจารณาเป็นอันเชื่อได้ว่าจำเลยได้ทำไว้ให้โจทก์จริง แต่ถ้อยคำที่เขียนไว้กำกวม โจทก์ว่าจำเลยจะไม่เกี่ยวข้องกับมรดกทั้งหมด จำเลยว่าเฉพาะมรดกที่เป็นเงินศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นว่า จำเลยจะไม่เกี่ยวข้องเฉพาะมรดกที่เป็นเงินดังจำเลยว่า ข้อความในตอนต้นกล่าวว่า “ด้วยรายเงินมรดกของนางคำมารดา” เมื่อข้อความในตอนท้ายกล่าวว่า “ผู้รับขอสัญญาว่าจะไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องในทางสมปติมรดกรายนี้จากผู้ให้อีกเป็นอันขาด” คำว่า “รายนี้” ก็ต้องแปลให้รับกับรายที่กล่าวไว้ในตอนต้น คือรายเงินมรดกเท่านั้นทั้งนี้เป็นไปตามนัยแห่งบทบัญญัติของ มาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีข้อสงสัย ท่านให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณี ฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น” ด้วยอนึ่งเมื่อฟังว่าเอกสารนี้ไม่เกี่ยวกับการสละที่ดินรายพิพาทแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจะใช้ได้หรือไม่”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share