แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้ถือว่าการที่เทศบาลนครจำเลยรับคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยแล้ว เป็นการรับรองว่าผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะกลับมาอ้างว่าคำร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลัง หากจำเลยพบในภายหลังถึงเหตุที่ทำให้คำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างโต้แย้งอำนาจฟ้องของโจทก์ได้
ป. มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ให้ลงนามแทนในคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ ป. ยื่นต่อจำเลย เป็นการยื่นคำร้องที่ผู้รับประเมินมิได้ลงนามหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนาม จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 26 และมาตรา 27 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดเพียงผู้เดียว เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดิมโจทก์มีชื่อว่า “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคนนาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์และโทรศัพท์สาธารณะ ตลอดจนธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกันหรือที่เป็นประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์อันเป็นกิจการสาธารณูปโภคและหรือสาธารณูปการของรัฐบาลมีอำนาจให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับโทรศัพท์ในเรื่องเครื่องโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์สาธารณะ อุปกรณ์เครื่องใช้ และเครื่องบริการต่างๆ การดำเนินกิจการต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินกิจการค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสมแล้ว เหลือเท่าใด ต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ กิจการโทรศัพท์สาธารณะจึงเป็นกิจการของรัฐบาล ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ.2477 ประกอบมาตรา 11 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ปี 2545 โจทก์ได้จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้แปลงสภาพ “ทุน” ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาเป็น “หุ้น” ในรูปบริษัทมหาชนจำกัด แต่ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และให้โจทก์รับไปซึ่งกิจการ สิทธิ หน้าที่ หนี้ ความรับผิด และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมดตลอดจนกิจการโทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติรองรับให้โจทก์ยังคงมีอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ตามที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเคยมีอยู่ตามกฎหมายจัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและตามกฎหมายอื่นให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ต่อมาโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจาก “บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็น “บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน)” โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตู้โทรศัพท์สาธารณะและเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศไทยรวมทั้งในเขตจำเลย เครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่โจทก์ให้บริการแก่ประชาชนมีอยู่ 3 ชนิด คือ ชนิดใช้การ์ดหรือบัตรโทรศัพท์ ชนิดหยอดเหรียญ และชนิดใช้การ์ดหรือบัตรโทรศัพท์และหยอดเหรียญ ซึ่งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะนี้ติดตั้งไว้ในอาคารที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้หรืออาจติดตั้งนอกอาคารก็ได้โจทก์จะมีตู้โทรศัพท์สาธารณะเอาไว้เพื่อความสะดวกปลอดภัยแก่ประชาชนในการเข้าไปใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะที่มีการติดตั้งนอกอาคาร โดยตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวมีลักษณะเป็นตู้กระจกใสขอบอะลูมิเนียมสี่เหลี่ยมทรงสูง ส่วนบนปิดทึบ ภายในตู้มีกล่องเหล็กสำหรับติดเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ ขาตู้กระจกทั้งสี่ขาถูกยึดด้วยนอตติดบนแท่นคอนกรีตสี่เหลี่ยมหนาสำเร็จรูป แท่นคอนกรีตนี้บางแท่นวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยไม่ได้ใช้ปูนซีเมนต์ฉาบรอบขอบฐานแท่นคอนกรีตติดทางเท้าหรือพื้นดิน บางแท่นวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยใช้ปูนซีเมนต์ฉาบบางๆ รอบขอบฐานแท่นคอนกรีต เพื่อป้องกันมิให้ฝุ่นละอองสะสมใต้ฐานหรือก่อให้เกิดความสกปรกแก่ทางเท้าหรือพื้นถนน ตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายโดยการยกตู้โทรศัพท์สาธารณะพร้อมแท่นคอนกรีตไปได้โดยไม่เสียรูปทรง สำหรับตู้โทรศัพท์สาธารณะที่มีแท่นคอนกรีตฉาบด้วยปูนซีเมนต์บางๆ รอบขอบฐานดังกล่าวก็เพียงกะเทาะเอาปูนซีเมนต์ที่ฉาบบางๆ ออกก็สามารถยกเคลื่อนย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะพร้อมแท่นคอนกรีตสำเร็จรูปจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้โดยง่ายไม่เสียรูปทรงเช่นกัน แม้ไม่มีแท่นคอนกรีตสี่เหลี่ยมหนาที่ฐานตู้โทรศัพท์สาธารณะก็สามารถตั้งอยู่บนพื้นดินหรือทางเท้าได้แต่ไม่สวยงาม วันที่ 23 มีนาคม 2549 จำเลยแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ทั่วเขตพื้นที่เทศบาลจำเลย ประจำปีภาษี 2546 ถึง 2549 โดยประเมินค่ารายปีปีละ 302,400 บาท พร้อมแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีเป็นเงินปีละ 37,800 บาท รวมเป็นเงิน 151,200 บาท วันที่ 30 มีนาคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ วันที่ 21 สิงหาคม 2549 โจทก์ได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดจากจำเลยว่าชี้ขาดยืนตามการประเมิน โจทก์ไม่เห็นด้วยตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างติดตรึงตราถาวรกับที่ดิน จึงไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน การติดตั้งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้บริการไม่จำเป็นต้องติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะเสมอไป อาจทำเพียงติดตั้งในลักษณะแขวนไว้ที่เสาพร้อมติดแผงกันน้ำหรือแสงแดดเหนือเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ การติดตั้งในรูปของตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นรูปแบบการให้บริการที่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อลดเสียงรบกวนจากภายนอกและป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร โดยเฉพาะการใช้เครื่องโทรศัพท์สาธารณะในฤดูฝน โจทก์ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคือค่าทำตู้โทรศัพท์สาธารณะ เมื่อพิจารณาตามสภาพของตู้โทรศัพท์สาธารณะแล้วไม่ควรตีความว่าเป็น “โรงเรือน” หรือ สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น” เพราะเพียงรูปลักษณ์การก่อสร้างวัสดุในรูปโรงเรือน และไม่อาจตีความว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็น “ที่เก็บสินค้า” เพราะวัตถุประสงค์ของตู้โทรศัพท์สาธารณะมิใช่สร้างขึ้นมาเพื่อเก็บสินค้าของโจทก์ และเครื่องโทรศัพท์สาธารณะก็มิใช่สินค้าของโจทก์ ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ก็เป็นสังหาริมทรัพย์มิได้ก่อสร้างติดกับพื้นดินเป็นการถาวรสามารถเคลื่อนย้ายจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งได้โดยง่ายและไม่เสียรูปทรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการโทรศัพท์คือเครื่องโทรศัพท์สาธารณะไม่ใช่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หากมีเฉพาะเครื่องโทรศัพท์สาธารณะโดยไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะประชาชนก็ใช้บริการได้ ตู้โทรศัพท์สาธารณะจึงไม่ใช่สาระสำคัญในการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งแปลงสภาพมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและยังคงมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จึงถือได้ว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะและเครื่องโทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลและกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 และก่อนยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ชำระค่าภาษีแก่จำเลยตามที่ถูกแจ้งการประเมินแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามใบแจ้งรายการประเมินประจำปีภาษี 2546 ถึง 2549 เล่มที่ 304 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2549 และใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ 1 เลขที่ 45 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2549 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์จำนวน 151,200 บาท ภายในสามเดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่กำหนดเวลาดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดจะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดและมติของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นที่สุด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ยอมรับคำชี้ขาดว่าถูกต้อง ค่ารายปีและค่าภาษีตามคำชี้ขาดจึงเป็นจำนวนเด็ดขาดอีกทั้งโจทก์ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ที่กำหนดให้โจทก์ส่งเรื่องที่พิพาทแก่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการส่งให้คณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้รับการยกเว้นที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มิใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และไม่ปรากฏว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายประพจน์ ลงลายมือชื่อในคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จึงถือว่าโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ แม้จะไม่ได้มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่ก็เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการได้ เพราะวัตถุประสงค์ในการสร้างตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและเพื่อป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหายและก่อให้เกิดรายได้แก่โจทก์ จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะที่จะได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) การประเมินและคำชี้ขาดการประเมินของจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยตามใบแจ้งรายการประเมินประจำปีภาษี 2546 ถึง 2549 เล่มที่ 304 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2549 และใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ 1 เลที่ 45 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2549 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 151,200 บาท ภายในสามเดือนนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดสามเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีกรอบเป็นโลหะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตที่มีขนาดกว้างยาวกว่าขนาดของตู้โทรศัพท์เล็กน้อย ตู้โทรศัพท์พร้อมแท่นคอนกรีตสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับทำเลที่จะติดตั้งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะเพื่อประชาชนใช้สอยได้สะดวก ตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 จำเลยแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ทั่วเขตพื้นที่เทศบาลจำเลยประจำปีภาษี 2546 ถึง 2549 โดยประเมินค่ารายปี ปีละ 302,400 บาท พร้อมแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงินปีละ 37,800 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ถึง 14 วันที่ 30 มีนาคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่โดยนายประพจน์เป็นผู้ยื่นคำร้องตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 วันที่ 21 สิงหาคม 2549 ต่อมาโจทก์ได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดจากจำเลยว่าชี้ขาดยืนตามการประเมินดังกล่าว ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 18 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาดดังกล่าว ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ชำระค่าภาษีตามคำชี้ขาดแล้ว ตามใบเสร็จภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 28 ถึง 31
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากเมื่อจำเลยแจ้งการประเมินค่ารายปีกับภาษีโรงเรือนและที่ดินตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ในเขตเทศบาลจำเลย ประจำปีภาษี 2546 ถึง 2549 แก่โจทก์แล้ว แม้จะมีการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และจำเลยได้รับพิจารณากับมีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้วก็ตาม แต่คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ดังกล่าวที่มีนายประพจน์ลงลายมือชื่อแทนโจทก์นั้นนายประพจน์ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ คำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบจึงถือได้ว่าโจทก์ไม่ได้ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่หรือไม่ ปัญหานี้ในส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำชี้ขาดแจ้งแก่โจทก์แล้ว โดยจำเลยไม่ได้วินิจฉัยว่าคำร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ถ้าจำเลยเห็นว่าคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่สมควรรับคำร้องของโจทก์ไว้พิจารณากรณีจำเลยรับคำร้องไว้พิจารณาชี้ขาดแล้ว แสดงว่าจำเลยยอมรับแล้วว่า นายประพจน์มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ ที่จำเลยกลับมาอ้างภายหลังว่าคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ดังกล่าวไม่ชอบนั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในส่วนนี้ว่า การที่จำเลยรับคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และมีคำชี้ขาด ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันหรือรับรองว่าคำร้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวเป็นการนำข้อเท็จจริงที่ฟังได้ยุติว่า จำเลยได้รับพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และมีคำชี้ขาดให้แล้วมาวินิจฉัยข้อกฎหมายเป็นทำนองว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่านายประพจน์มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์แล้ว จึงไม่มีสิทธิมาอ้างว่าคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ชอบอีก ข้อที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้นไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้ถือว่าพฤติการณ์ที่จำเลยรับคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยแล้วตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการรับรองว่าผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องนี้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะกลับมาอ้างว่าคำร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลังแต่อย่างใด ดังนี้หากจำเลยพบในภายหลังถึงเหตุที่ทำให้คำร้องนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่จำเลยให้การไว้ในคดีนี้ จำเลยก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างโต้แย้งอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางส่วนนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนปัญหาข้อเท็จจริงอันจะต้องวินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันว่า นายประพจน์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลโจทก์หรือได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แทนโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางยังไม่ได้วินิจฉัยไว้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยใหม่ โดยเห็นว่า ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่ปรากฏว่านายประพจน์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่านายประพจน์มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เช่นกัน นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่านายประพจน์ได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามแทนโจทก์ ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันในภายหลังได้ ที่โจทก์อ้างคำสั่งที่ รบ.55/2546 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้บริหารปฏิบัติการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งมีนายอรัญ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้สั่งนั้น โจทก์ก็มิได้นำสืบว่านายอรัญเป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าวแทนโจทก์ได้จริงหรือไม่เพียงใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่านายประพจน์ได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ให้ลงนามแทนในคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 ที่ยื่นต่อจำเลยเป็นการยื่นคำร้องที่ผู้รับประเมินมิได้ลงนามหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนาม จึงไม่ชอบตามมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาล ตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาอื่นที่จำเลยอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ