แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการรักษาเงินมีหน้าที่ปิดเปิดกำปั่น โดยถือกุญแจไว้คนละดอก ไม่มีหน้าที่ไปสอบถามและเร่งรัดให้ส่วนราชการต่าง ๆ นำเงินมาเก็บในกำปั่นเพราะเป็นหน้าที่ของผู้ที่รับเงินไว้จะต้องนำเงินนั้นมาเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อนำเข้าเก็บในกำปั่นต่อไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ คณะกรรมการรักษาเงินจึงมีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาเฉพาะเงินที่ได้นำมาเก็บไว้ในกำปั่นเท่านั้น เมื่อเงินของโจทก์ถูกยักยอกไปขณะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานสรรพากร โดยที่ยังไม่ได้นำเข้าเก็บในกำปั่น จึงไม่เกี่ยวกับการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการรักษาเงิน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าส่วนราชการเกี่ยวกับงานสรรพากร จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ๒ จำเลยที่ ๓ เป็นปลัดอำเภออาวุโส และจำเลยที่ ๔ เป็นพนักงานที่ดินอำเภอ จำเลยที่๑ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นกรรมการรักษาเงิน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันรับเงินของโจทก์ไว้แล้วไม่นำเงินส่งคลังตามระเบียบ กลับเบียดบังไว้เป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ได้จงใจปล่อยปละละเลยต่อหน้ที่หรือประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง เป็นช่องทางและโอกาสให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เบียดบังเอาเงินโจทก์ไป ขอให้จำเลยร่วมกันคืนและชดใช้เงินที่ยังขาดจำนวน ๕๐,๘๔๔.๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ รับเงินโจทก์ไว้แต่ผู้เดียวจำเลยที่ ๑ ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า มีหน้าที่เพียงถือกุญแจตู้เซฟและนำกุญแจไปเปิดปิดเวลาจะนำเงินเข้าและออก คอยตรวจสอบจำนวนเงินที่จะนำเข้าเก็บรักษาและบันทึกจำนวนเงินที่ขาดประจำวันร่วมกับคระกรรมการเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ไม่นำเงินส่งมอบต่อจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และคณะกรรมการ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็ไม่มีหน้าที่อะไรต้องทำ จึงไม่ได้ละเว้นต่อหน้าที่อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ได้ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ว่า แม้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรักษาเงินของอำเภอคอนสารแต่นายชลอ ชาญเชี่ยว สรรพากรจังหวัดชัยภูมิ กับนายแสวง อัมพรรัตน์ นายอำเภอคอนสารพยานโจทก์เบิกความว่า กรรมการรักษาเงินมีจำเลยที่ ๑ อีกคนหนึ่งและคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ปิดเปิดกำปั่นและต้องถือกุญแจไว้คนละหนึ่งดอกไม่มีหน้าที่ไปสอบถามและเร่งรัดให้ส่วนราชการต่าง ๆ นำเงินมาเก็บในกำปั่น เป็นหน้าที่ผู้ที่รับเงินไว้ จะต้องนำเงินนั้นมาเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อนำเข้าเก็บในกำปั่นนั่นเอง ซึ่งก็ตรงกับที่กำหนดไว้ในระเบียบการรับจ่าย การเก็บรักษาและการนำส่งเงินในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ. ๒๕๑๕ เอกสารหมาย จ.๑๒๕ โดยมีระบุไว้ในส่วนที่ ๓ ข้อ ๔๗ ว่า เมื่อสิ้นเวลารับจ่ายเงินประจำวัน ให้หัวหน้าส่วนราชการนำเงินที่จะเก็บรักษาและรายงานเงินคงเหลือประจำวันส่งมอบต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ เมื่อคณะกรรมการได้ตรวจสอบถูกต้องแล้ว ให้หัวหน้าส่วนราชการนำเงินบรรจุลงหีบห่อต่อหน้าคณะกรรมการ แล้วให้ใส่กุญแจประจำตราครั่งที่เชือกผูกมัดหีบห่อในลักษณะที่ตราครั่งจะต้องถูกทำลายเมื่อมีการเปิดหีบห่อนั้น เมื่อกรรมการทุกคนลงลายมือชื่อในรายงานเงินคงเหลือประจำวันแล้ว ให้นำหีบห่อเข้าเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟหรือกำปั่น สำหรับรายงานเงินคงเหลือประจำวัน ต้องจัดทำ ๒ ฉบับ ให้หัวหน้าส่วนราชการเก็บไว้ ๑ ฉบับ อีก ๑ ฉบับ คณะกรรมการต้องนำไปเสนอนายอำเภอเพื่อทราบและเก็บไว้ตามข้อ ๔๖ ส่วนตู้เซฟหรือกำปั่น เมื่อนำเงินเข้าเก็บเรียบร้อยแล้วให้กรรมการใส่กุญแจประจำตราครั่งของแต่ละคนให้เรียบร้อยในลักษณะที่ตราประจำครั่งจะต้องถูกทำลาย เมื่อมีการเปิดตู้เซฟหรือกำปั่นตามข้อ ๔๙ แสดงว่า คณะกรรมการมีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาเฉพาะเงินที่ได้นำมาเก็บไว้ในกำปั่นเท่านั้น แต่เงินของโจทก์ทั้งสองที่สูญหายไปในคดีนี้จำนวน ๗๙,๓๕๑.๑๕ บาทอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานสรรพากรอำเภอคอนสาร ยังไม่ได้นำส่งเข้าเก็บในกำปั่น ก็มีการเบียดบังยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปเสียก่อน จึงไม่เกี่ยวกับการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการรักษาเงินของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ แต่อย่างใด จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
พิพากษายืน