แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์สั่งซื้อครั่งเม็ดชั้นคุณภาพ ข. จากจำเลยที่ 1 โดยระบุในสัญญาซื้อขายว่าต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองจากจำเลยที่ 2 โจทก์ตรวจสอบพบว่า ครั่งเม็ดที่จำเลยที่ 2 รับรองนั้นไม่ได้มาตรฐาน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 แอบอ้างว่าเป็นผู้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกา และจำเลยที่ 2 ตรวจสอบคุณภาพครั่งเม็ดและออกหนังสือรับรองคุณภาพให้แก่จำเลยที่ 1 ผิดไปจากความเป็นจริง โดยจำเลยที่ 2 ทราบถึงความสำคัญของหนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพสินค้าดีว่ามีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าและการตกลงรับซื้อสินค้าระหว่างประเทศนั้น โดยใช้หนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพดังกล่าวประกอบการซื้อขายสินค้าและเพื่อพิจารณาว่าสินค้านั้นมีคุณภาพพอเพียงแก่การส่งไปประเทศใดหรือไม่ด้วย ประกอบกับเมื่อได้รับหนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพจากจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็อาศัยหนังสือรับรองดังกล่าวแสดงต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อว่าสินค้าที่ขนส่งไปส่งมอบให้แก่โจทก์นั้นเป็นสินค้าครั่งเม็ดชั้นคุณภาพ ข. ตามข้อกำหนดของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกาตามที่ตกลงซื้อขายกัน และรับชำระเงินค่าสินค้าโดยวิธีเลตเตอร์ออฟเครดิต การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าสินค้า ค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่าใช้จ่ายด้านพิธีการศุลกากร และค่าขนส่งสินค้า และต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวอันถือเป็นค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันจำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายฐานผิดสัญญาซื้อขาย
การจะให้บุคคลหลายคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้จำนวนใดจำนวนหนึ่งอย่างลูกหนี้ร่วมต้องเป็นไปโดยนิติกรรม หรือมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วมเท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องจากการผิดสัญญาซื้อขาย ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องจากการทำละเมิด จึงไม่มีการทำนิติกรรมไว้ว่าจะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าเสียหายต่อโจทก์ และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้ความรับผิดในลักษณะนี้เป็นไปอย่างลูกหนี้ร่วมกัน กรณีนี้หากโจทก์บังคับชำระหนี้จากจำเลยคนใดแล้วต้องนำมาหักออกจากความรับผิดของจำเลยอีกคนด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 3,552,079.30 ดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,000,663.75 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2546 โจทก์สั่งซื้อครั่งเม็ดซึ่งผ่านการแปรสภาพจากครั่งดิบโดยการบดและล้างแล้วจากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,128,730 ดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมค่าขนส่งทางเรือถึงปลายทางที่ท่าเรือเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และระบุในสัญญาซื้อขาย พร้อมคำแปลว่า “Material (Quality): Siam B Seedlac – Quality in Accordance with the U.S.S.I.A. standards (Maximum 3.5% insolubles, 2.0% moisture)” และ “Invoices are to be accompanied by SGS Certificate of Inspection indicating lot number, percent of hot alcohol insolubles and moisture content” ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก SGS คือ จำเลยที่ 2 ว่ามีสถานะความไม่ละลายในแอลกอฮอล์ร้อน ไม่เกินร้อยละ 3.5 ความชื้นไม่เกินร้อยละ 2.0 ตามที่ U.S.S.I.A. คือสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกากำหนดมาตรฐานไว้ และจำเลยที่ 2 ตรวจสอบคุณภาพครั่งเม็ดตามวิธีการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดไว้สำหรับการตรวจสอบครั่งเม็ดสยาม ชั้นคุณภาพ ข. (Standard For Lac Product) มอก. 233 – 2520 ซึ่งไม่เหมือนกับการตรวจตามข้อกำหนดของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกาทุกข้อ โดยเฉพาะการตรวจสอบอายุ และการหลอมไหล แต่หลังจากการตรวจสอบคุณสมบัติต่อการฟอกสี การหลอมไหล อายุ การที่ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ร้อน และความชื้นรวม 5 คุณลักษณะของครั่งเม็ดเหล่านั้นแล้ว จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพโดยระบุข้อความยืนยันว่า “ได้ดำเนินการชักตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์ตามข้อกำหนดของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกาแล้ว” ให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากได้รับครั่งเม็ดซึ่งขนส่งไปทางเรือเดินทะเลแล้ว โจทก์ตรวจสอบพบว่า ครั่งเม็ดที่จำเลยที่ 2 รับรองนั้นไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกาในชั้นคุณภาพ ข. โดยมีสถานะความไม่ละลายในแอลกอฮอล์ร้อนไม่เกินร้อยละ 3.5 ความชื้นไม่เกินร้อยละ 2.0 ตามหนังสือรับรองการตรวจวิเคราะห์ของบริษัทอาร์ ไอ อะนาลิติคัล แลบบอราทอรีส์, อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบอิสระ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 2 ตรวจสอบคุณภาพครั่งเม็ดเหล่านั้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายวิลเลี่ยม กรรมการโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า สัญญาซื้อขายครั่งเม็ดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดว่า ต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบครั่งเม็ดในประเทศไทยเสียก่อน และหลังจากการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพครั่งเม็ดเหล่านั้นว่ามีชั้นคุณภาพ ข. ตามข้อกำหนดของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อโจทก์ตรวจสอบครั่งเม็ดเหล่านั้นแล้วกลับพบว่าสถานะความไม่ละลายในความร้อนสูงเกินกว่าร้อยละ 3.5 ตามที่โจทก์กำหนดในสัญญาซื้อขาย และมีอายุเกือบเป็น 0 ไม่ตรงตามมาตรฐานของสมาคมดังกล่าว และไม่สามารถนำไปใช้งานได้ จึงมิได้ตรวจคุณสมบัติด้านความชื้นอีก เมื่อส่งให้บริษัทอาร์ ไอ อะนาลิติคัล แลบบอราทอรีส์, อิงค์ ตรวจสอบซ้ำอีก 2 ครั้ง ก็ยังได้ผลเช่นเดิม ทั้งที่ปกติคุณสมบัติของครั่งเม็ดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเมื่อสัมผัสอุณหภูมิร้อนเป็นเวลานานหลายปีเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมีนายรชตนันท์ ผู้จัดการแผนกสินค้าเกษตร และนายประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินค้าเกษตร กับนายวีระ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ตรวจสอบและรับรองคุณภาพครั่งเม็ดเหล่านั้นตามความเป็นจริงที่ตรวจพบในวันเวลาและสถานที่ที่ทำการตรวจ โดยชักตัวอย่างตามวิธีการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ครั่ง (มอก. 233 – 2520) ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดขึ้นโดยลอกเลียนแบบมาจากวิธีการตรวจสอบของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกา และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการของสมาคมดังกล่าว แต่นายรชตนันท์กลับตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง ซึ่งระบุข้อความว่า “ผู้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกา” ไว้ที่หัวกระดาษ และหลังจากตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการแล้วจำเลยที่ 2 ก็จะออกหนังสือรับรองแก่จำเลยที่ 1 เช่นนั้น โดยยอมรับว่า หนังสือรับรองคุณภาพดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งในการใช้ประกอบการซื้อขายสินค้าและเพื่อพิจารณาว่าสินค้านั้นมีคุณภาพพอเพียงแก่การส่งไปประเทศใดหรือไม่ด้วย นอกจากนั้นยังตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ระบุข้อความในเอกสารหมาย จ.6 ว่า ผู้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ความจริงมิได้มีสถานภาพเช่นนั้น นายประเสริฐก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.6 ขึ้นเอง โดยระบุข้อความดังกล่าว รวมทั้งรับรองน้ำหนักและคุณภาพครั่งเม็ดที่จัดส่งไปยังเมืองบอสตันตรงตามใบสั่งตรวจสอบสินค้า ยิ่งกว่านั้นนายวีระยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า มาตรฐานการตรวจสอบครั่งเม็ดของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกาแตกต่างจากมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไทย ซึ่งมีเนื้อหาเพียงส่วนหนึ่งที่มาจากมาตรฐานของสมาคมดังกล่าว อีกส่วนหนึ่งมาจากแหล่งอื่น โดยการตรวจสอบอายุและการหลอมไหลเป็นไปตามมาตรฐานของ ASTM D 411 – 73 แต่ละมาตรฐานมีวิธีการชักตัวอย่าง วิเคราะห์ และแปรผลแตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงจำเลยที่ 2 แอบอ้างว่าเป็นผู้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ผู้พบเห็นหนังสือรับรองหลงเชื่อตามคำรับรองในการตรวจวิเคราะห์น้ำหนักและคุณภาพครั่งเม็ดว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ตรวจสอบและรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไทย ซึ่งนำเกณฑ์มาตรฐานจากแหล่งต่าง ๆ มาผสมผสานกัน และจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 จะส่งออกครั่งเม็ดเหล่านั้นไปยังเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนหนังสือรับรองคุณภาพที่จำเลยที่ 2 ออกให้นั้นมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งในการใช้ประกอบการซื้อขายสินค้าเป็นสำคัญ เพื่อพิจารณาว่ามีคุณภาพเพียงพอแก่การส่งไปจำหน่ายในประเทศนั้นหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ยังขืนออกหนังสือรับรองที่แสดงสถานภาพอันเป็นเท็จของตน และรับรองว่าครั่งเม็ดที่จำเลยที่ 1 จะส่งออกไปให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายมีชั้นคุณภาพ ข. ตามข้อกำหนดของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกา อันเป็นการรับรองมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริง การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการตรวจสอบคุณภาพครั่งเม็ดเหล่านั้นโดยจงใจทำผิดต่อโจทก์จนทำให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โดยตรงก็ตาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นว่าจำเลยที่ 2 ตรวจสอบคุณภาพครั่งเม็ดและออกหนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพให้แก่จำเลยที่ 1 ผิดไปจากความเป็นจริง โดยจำเลยที่ 2 ทราบถึงความสำคัญของหนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพสินค้าดีว่า มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า และการตกลงรับซื้อสินค้าระหว่างประเทศนั้น โดยใช้หนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพดังกล่าวประกอบการซื้อขายสินค้าและเพื่อพิจารณาว่าสินค้านั้นมีคุณภาพพอเพียงแก่การส่งไปประเทศใดหรือไม่ด้วย ประกอบกับเมื่อได้รับหนังสือรับรองน้ำหนักและคุณภาพจากจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็อาศัยหนังสือรับรองดังกล่าวแสดงต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อว่า สินค้าที่ขนส่งไปส่งมอบให้แก่โจทก์นั้นเป็นสินค้าครั่งเม็ดชั้นคุณภาพ ข. ตามข้อกำหนดของสมาคมผู้นำเข้าเชลแล็กแห่งสหรัฐอเมริกาตามที่ตกลงซื้อขายกัน และรับชำระเงินค่าสินค้าโดยวิธีเลตเตอร์ออฟเครดิต การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าสินค้า ค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่าใช้จ่ายด้านพิธีการศุลกากร และค่าขนส่งสินค้า และต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวอันถือเป็นค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันจำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายฐานผิดสัญญาซื้อขายตามจำนวนค่าเสียหายที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดมา อย่างไรก็ดี การจะให้บุคคลหลายคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้จำนวนใดจำนวนหนึ่งอย่างลูกหนี้ร่วมต้องเป็นไปโดยนิติกรรม หรือมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วมเท่านั้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องจากการผิดสัญญาซื้อขาย ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องจากการทำละเมิด จึงไม่มีการทำนิติกรรมไว้ว่าจะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าเสียหายต่อโจทก์ และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้ความรับผิดในลักษณะนี้เป็นไปอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์จะเป็นจำนวนเดียวกันกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่กรณีไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นั้นฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน 1,000,663.75 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยหากโจทก์บังคับชำระหนี้จากจำเลยคนใดแล้วให้นำมาหักออกจากความรับผิดชำระหนี้ของจำเลยอีกคนด้วย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้แทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท.