แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดโดยอาศัยมูลของสัญญากู้เงินและสัญญาขายลดเช็ค มิใช่ฟ้องเรียกเงินตามเช็คโดยตรง เมื่อกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 164 แม้หลังจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่19 ตุลาคม 2525 แล้ว โจทก์ไม่ได้ติดตามทวงถามเงินตามเช็คเอาจากผู้สั่งจ่าย และเพิ่งแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม2527 ก็หาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่เพราะจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้มีหนี้ต้องชำระหนี้ให้ถูกต้องตามประสงค์แห่งมูลหนี้แต่กลับละเลยไม่สนใจชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เรื่อยไปตามกฎหมาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทกู้เงินโดยขายลดเช็ค ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์และได้นำเช็คมาแลกเงินสดกับโจทก์ คือเช็คลงวันที่ 16 กันยายน2525 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันภายในวงเงินไม่เกิน 500,000บาท ประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในการกู้ยืมเงินการขายลดเช็คหรือหนี้อื่น ๆ ทั้งที่เป็นหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาและหนี้ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ต่อมาเมื่อครบกำหนดตามวันที่ลงในเช็ค โจทก์ได้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2525 โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยคงชำระหนี้ให้โจทก์แต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 278,971.76 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ21 ต่อปี จากจำนวนเงิน 207,737.66 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นการเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยการใช้สิทธิไม่สุจริตกล่าวคือ โจทก์อ้างว่าเช็คพิพาทลงวันที่ 16 กันยายน 2525สั่งจ่ายเงิน 500,000 บาท ซึ่งเป็นเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัดรำเพยโจทก์อ้างว่าได้นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2525 แล้วเหตุไฉนโจทก์จึงปล่อยปละละเลยไม่ฟ้องร้องคดีต่อผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ1 ปี นับแต่เช็คถึงกำหนดแต่เพิ่งแจ้งให้จำเลยทราบตามหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2527 เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพร้อมทั้งดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรำเพย ผู้สั่งจ่ายเช็คก็มีสำนักทำการงานอันแน่นอนอยู่แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินใด ๆ ต่อโจทก์ เช็คพิพาทขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้278,971.76 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากจำนวนเงิน 207,737.66 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่โต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโดยขายลดเช็คกับโจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 500,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2525จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ และนำเช็คตามฟ้องลงวันที่16 กันยายน 2525 จำนวนเงิน 500,000 บาท มาขายลดให้โจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นได้ทำสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 26 มกราคม 2525ให้แก่โจทก์ไว้ภายในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท เป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาหรือหนี้ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2525โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2529 ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอาศัยมูลของสัญญากู้เงินและสัญญาขายลดเช็คเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา มิใช่ฟ้องเรียกเงินตามเช็คโดยตรง สัญญากู้เงินและสัญญาขายลดเช็คนั้นกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษเป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 แม้เช็คตามฟ้องซึ่งจำเลยที่ 1 นำมาขายลดนั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ไปแล้ว โจทก์ก็ยังฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองได้ภายในอายุความ 10 ปีดังกล่าว คดีนี้จำเลยทั้งสองผิดสัญญาขายลดเช็คเมื่อปี 2525 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อปี 2529 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 1อ้างว่า เช็คที่จำเลยที่ 1 ขายลดไว้แก่โจทก์นั้นถึงกำหนดวันที่16 กันยายน 2525 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่19 ตุลาคม 2525 แต่โจทก์ไม่ติดตามทวงถามผู้สั่งจ่าย และเพิ่งแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบตามหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2527 ให้จำเลยที่ 1 รับผิดพร้อมทั้งดอกเบี้ย ทำให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยมากข้อนี้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ให้ถูกต้องตามความประสงค์แห่งมูลหนี้ แต่กลับละเลยไม่สนใจชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1เรื่อยไปตามกฎหมาย เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 เองที่ไม่ชำระหนี้จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.