คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ปฏิเสธว่าลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท และในสำนวนมีลายมือชื่อแท้จริงของจำเลยที่ 2ในสัญญาจำนอง ใบแต่งทนายและคำให้การซึ่งเป็นลายมือชื่อที่ปรากฏอยู่ชัดแจ้ง เมื่อเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับประเด็นโดยตรงย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะอาศัยลายมือชื่อตรวจเปรียบเทียบเพื่อชั่ง น้ำหนักของพยานหลักฐานว่าเป็นอันเพียงพอให้เชื่อ ฟังได้หรือไม่เพียงใดไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ศาลเปรียบเทียบลายมือชื่อและรับฟังตามที่ได้ตรวจพิเคราะห์แล้ว เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจึงเป็นการออกเช็คโดยมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงินและมีเจตนาที่จะผูกพันบังคับชำระหนี้กันได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีบังคับตามเช็คได้ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทแล้วร่วมกับจำเลยที่ 1 นำเช็คไปมอบให้โจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงในอันที่จะรับผิดตามข้อความในเช็คอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1ผู้สั่งจ่ายด้วยการลงลายมือชื่อของตนในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยอีก 75,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,075,000 บาท ให้โจทก์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นตามเช็คตลอดไปจนกว่าจะชำระเงินตามเช็คเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทลายมือชื่อด้านหลังเช็คดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอมจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินค้ำประกันเงินกู้โจทก์และสั่งจ่ายเช้คพิพาทค้ำประกันสัญญาจำนองอีกชั้นหนึ่ง เช็คดังกล่าวจึงไม่ใช่เช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้รับอาวับ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ดจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 1,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2527 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกที่ว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกลายมือชื่อผู้สลักหลังเช็คพิพาทเปรียบเทียบกับลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในสัญญาจำนองในแต่งทนายและคำให้การ เป็นการไม่ชอบเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลไม่อาจรู้เองได้นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ปฏิเสธว่าลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทมิใช่ของจำเลยที่ 2 โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท และในสำนวนมีลายมือชื่อแท้จริงของจำเลยที่ 2 ในสัญญาจำนอง ใบแต่งทนายและคำให้การ ซึ่งเป็นลายมือชื่อที่ปรากฎอยู่ชัดแจ้งเมื่อเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับประเด็นโดยตรง ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะอาศัยลายมือชื่อ ตรวจเปรียบเทียบเพื่อชั่งน้ำหนักของพยานหลักฐานว่า เป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังได้หรือไม่เพียงใด ไม่มีกฎหมายใดที่ห้ามมิให้ศาลเปรียบเทียบลายมือชื่อและรับฟังตามที่ได้ตรวจพิเคราะห์แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยคำเบิกความพยานบุคคลประกอบกับการเปรียบเทียบลายมือเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ฎีกาประการที่สองที่ว่า การออกเช็ครายนี้ เพื่อประกันหนี้จำนองและหนี้จำนองมิได้กำหนดเวลาไว้ โจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่มีสิทธินำเช็คมาฟ้องได้นั้น เห็นว่ามูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินจำนวน 1,000,000 บาท โดยมิได้ทำสัญญากู้ยืมกันไว้โดยเฉพาะ แต่ได้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน และให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินด้วยหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาทลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2527 มอบให้แก่โจทก์อีก และตกลงกันว่าเพื่อประกัน ดังรายละเอียดด้านหลังเอกสารหมาย ล.1 เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน ย่อมเป็นการออกเช็คโดยมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน และมีเจตนาที่จะผูกพันบังคับชำระหนี้กันได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีบังคับตามเช็คได้
ฎีกาประการที่สามที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะผู้สลักหลังเพราะจำเลยที่ 2 ไม่เคยเป็นผู้ทรง และเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ลงชื่อด้านหลัง โดยไม่มีข้อความว่าใช้ได้เป็นอาวัล จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คที่สั่งจ่ายโดยระบุชื่อโจทก์ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือ และมุมซ้ายบนด้านหน้ามีข้อความว่าเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนมือ และในเช็คไม่ปรากฎว่ามีถ้อยคำสำนวนว่า ใช้ได้เป็นอาวัลหรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัล แต่การทึ่จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คที่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท และจำเลยทั้งสองได้นำเช็คไปมอบให้โจทก์กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ในอันที่จะรับผิดตามข้อความในเช็คอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย ด้วยการลงลายมือชื่อของตนในเช็คตามมาตรา 900 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย
ฎีกาประการสุดท้ายที่ว่าโจทก์มิได้ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยคำพิพากษาในเรื่องดอกเบี้ยจึงเกินคำขอนั้น เห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากันในศาลอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยโดยพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์แล้วในคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 มีคำขอให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จย่อมเห็นได้ว่าที่ฟ้องขอให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นการพิมพ์ผิดเพราะโจทก์มีเพียงคนเดียว และจะขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ย่อมไม่ได้ ทั้งตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวในที่อื่นทั้งหมดได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้ดจำเลยทั้องสองชำระดอกเบี้ย แต่พิมพ์คำว่าจำเลยทั้งสองเป็นโจทก์ทั้งสอง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยได้มิใช่พิพากษาเกินคำขอ และโดยเฉพาะการฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ชำระดอกเบี้ยจนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้…”
พิพากษายืน.

Share