คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3587/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ 2 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้” โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรกภายในกำหนดเวลา ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสิทธิของโจทก์ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 84 ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมนี้กฎหมายมิได้กำหนดกรอบเวลาไว้ เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้นตามมาตรา 84/1 (1) จึงถือว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามกฎกระทรวงแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เมื่อปี 2539 และปี 2542 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) เพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีมกราคม พฤษภาคม สิงหาคม กันยายน ธันวาคม 2538 และเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2540 เนื่องจากยอดซื้อและภาษีซื้อที่โจทก์แสดงไว้ในแบบแสดงรายการของเดือนภาษีดังกล่าวที่ยื่นต่อจำเลยไว้เดิมมีจำนวนต่ำเกินไป ในการยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมดังกล่าว โจทก์มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีจากจำเลย โจทก์จึงระบุขอคืนภาษีเป็นเงินสดในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นเพิ่มเติมไว้ เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) เพิ่มเติมแล้ว พนักงานของโจทก์ติดตามทวงถามเจ้าพนักงานของจำเลยที่ประจำอยู่ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ 9 ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบมาโดยตลอด แต่ได้รับแจ้งว่ายังไม่มีการพิจารณาคำร้องขอคืนเงินภาษีของโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 7 มิถุนายน 2544 เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือมายังโจทก์โดยแจ้งความประสงค์จะขอเข้ามาตรวจปฏิบัติการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีมกราคม พฤษภาคม สิงหาคม กันยายน ธันวาคม 2538 และเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2540 ณ ที่ทำการของโจทก์ในวันที่ 8 มิถุนายน 2544 โจทก์ได้อำนวยความสะดวกและนำเอกสารมาให้เจ้าพนักงานตรวจสอบตามความประสงค์ทุกประการ ต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยแจ้งให้โจทก์นำส่งเอกสารเพื่อประกอบพิจารณาเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง และโจทก์ได้ส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานของจำเลยทุกครั้ง เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2546 เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือขอเชิญพบมายังโจทก์โดยนัดหมายให้ไปพบในวันที่ 20 มกราคม 2546 เวลา 10 นาฬิกา พร้อมทั้งให้นำส่งหลักฐานประกอบการชำระเงินให้แก่บริษัทเอ็นแอนด์วี เทคโนโลยี จำกัด แต่เนื่องจากโจทก์ได้รับหนังสือฉบับนี้หลังจากเลยกำหนดนัดแล้ว จึงไม่อาจส่งมอบเอกสารให้ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือขอเชิญพบ (ครั้งที่ 2) มายังโจทก์โดยนัดหมายให้ไปพบในวันที่ 3 มีนาคม 2546 เวลา 10 นาฬิกา พร้อมกับให้นำส่งหลักฐานเช่นเดียวกับครั้งแรก วันที่ 18 มีนาคม 2546 โจทก์ไปพบและส่งมอบเอกสารที่มีอยู่ที่โจทก์บางส่วนให้แก่เจ้าพนักงานของจำเลย ส่วนรายการเอกสารอื่นนั้นอยู่ระหว่างโจทก์ประสานไปยังผู้ออกใบกำกับภาษีเพื่อให้ส่งเอกสารตามที่จำเลยประสงค์จะตรวจสอบมาให้โจทก์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2546 เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือมายังโจทก์ทางโทรสารให้ส่งมอบเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงรวบรวมเอกสารดังกล่าวทั้งหมดนำไปส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2546 เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 18,842,387.39 บาท และดอกเบี้ย 753,695.48 บาท เนื่องจากเจ้าพนักงานของจำเลยพิจารณาให้ดอกเบี้ยเพียงบางส่วนแก่โจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ขอให้รับดอกเบี้ยตามกฎหมายจากจำเลยในส่วนที่จำเลยไม่พิจารณาให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 เจ้าพนักงานของจำเลยกลับมีหนังสือมายังโจทก์รวม 17 ฉบับ ให้โจทก์นำส่งดอกเบี้ยจำนวน 753,695.48 บาท ที่พิจารณาให้แก่โจทก์มาตั้งแต่ต้นคืนโดยกล่าวอ้างว่าการแจ้งคืนดอกเบี้ยตามหนังสือแจ้งคืนภาษีอากร 17 ฉบับ นั้น เป็นการแจ้งคืนผิดพลาด การยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับเพิ่มเติมเกินกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย โจทก์เห็นว่า การพิจารณาของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ 753,695.48 บาท ตามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร (ดอกเบี้ย) 17 ฉบับ และการพิจารณาของเจ้าพนักงานที่ให้โจทก์ต้องนำส่งดอกเบี้ยคืน 753,695.48 บาท ตามหนังสือแจ้งการสั่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาด 17 ฉบับ นั้น ไม่ถูกต้อง โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากภาษีที่โจทก์ได้รับคืนในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน โดยเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน ทั้งนี้ตามข้อ 1 (2) และวรรคสองของกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ. 30) เพิ่มเติม เพื่อขอคืนเงินภาษีของเดือนภาษีมกราคม พฤษภาคม สิงหาคม กันยายน ธันวาคม 2538 และเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2540 โดยโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 วันที่ 26 มกราคม 2539 วันที่ 30 สิงหาคม 2539 และวันที่ 7 มิถุนายน 2542 แล้วแต่กรณีตามลำดับ การคิดดอกเบี้ยสำหรับจำนวนภาษีที่คืนให้แก่โจทก์จึงต้องคำนวณนับแต่วันที่ 15 เมษายน 2539 วันที่ 26 เมษายน 2539 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 และวันที่ 7 กันยายน 2542 แล้วแต่กรณีตามลำดับ จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ เมื่อคำนวณแล้วโจทก์จะได้รับดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 8,906,785.61 บาท นอกจากนี้จากรายการที่เจ้าพนักงานของจำเลยขอให้โจทก์ส่งมอบเอกสารและรายการเชิญพบต่างๆ จะเห็นได้ว่าความล่าช้าในการคืนเงินภาษีเกิดจากฝ่ายจำเลยเอง ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะตัดดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับให้เหลือเพียง 753,695.48 บาท และต่อมายังแจ้งให้โจทก์คืนเงินดอกเบี้ยดังกล่าวอีกเท่ากับว่าเจ้าพนักงานของจำเลยปฏิเสธไม่ให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามกฎหมาย การคำนวณและแจ้งคืนดอกเบี้ยของเจ้าพนักงานของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าพนักงานแจ้งให้โจทก์นำส่งดอกเบี้ยคืนจำนวน 753,695.48 บาท โดยกล่าวอ้างว่าการแจ้งคืนดอกเบี้ยตามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร 17 ฉบับ เป็นการแจ้งคืนผิดพลาด เพราะเป็นกรณียื่นแบบ ภ.พ. 30 ฉบับเพิ่มเติมกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนั้นไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ได้กำหนดไว้ว่า “การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้” ซึ่งเจ้าพนักงานของจำเลยแปลความข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) เพียงว่า ดอกเบี้ยที่จะได้รับจะต้องเกิดจากการขอคืนที่ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น เมื่อโจทก์ยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติม หลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย โจทก์เห็นว่าการแปลความของเจ้าพนักงานไม่ถูกต้อง เพราะข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) กำหนดไว้เป็น 2 กรณี คือ การยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษี โดยแบบแสดงรายการตามประมวลรัษฎากรนั้นมี 2 ประเภท คือ แบบแสดงรายการที่เป็นคำร้องขอคืนภาษีในตัวเองด้วย เช่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90, ภ.ง.ด. 91) หรือแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีภาษีขอคืน (ภ.พ.30) เป็นต้น อีกประเภทหนึ่งคือ แบบแสดงรายการที่ไม่เป็นคำร้องขอคืนภาษีในตัวเอง เช่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ซึ่งแบบแสดงรายการประเภทนี้หากมีภาษีขอคืนจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่างหาก แต่แบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมที่โจทก์ยื่นเป็นแบบแสดงรายการประเภทที่เป็นคำร้องขอคืนภาษีในตัวเอง โจทก์จึงมีสิทธิยื่นได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ตามมาตรา 84/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ.2539 ได้กำหนดไว้ให้ถือว่าแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมเป็นแบบคำร้องดังที่ปรากฏในข้อ 4 ของบทนิยามความหมายของคำว่า “คำร้อง” และ ข้อ 6 ว่าด้วยแบบคำร้องที่ใช้ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ที่โจทก์ยื่นเพิ่มเติมเป็นแบบขอคืนภาษีในตัวเอง และโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าวเพื่อขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ตามมาตรา 84/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเท่ากับโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) การที่เจ้าพนักงานของจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตามกฎหมายทั้งยังมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งดอกเบี้ยจำนวน 753,695.48 บาท คืนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยทั้งสิ้น 8,906,785.61 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แล้ว 753,695.48 บาท จึงยังขาดอยู่อีก 8,153,090.13 บาท ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการสั่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาดเลขที่ กค 0710.01/6.3/4488 – 4504 ลงวันที่ 5 กันยายน 2546 จำนวน 17 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 753,695.48 บาท ให้จำเลยชำระเงินค่าดอกเบี้ยอีก 8,153,090.13 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยพิจารณาเรื่องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ล่าช้า เนื่องจากกรณีที่โจทก์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีมกราคม พฤษภาคม สิงหาคม กันยายน ธันวาคม 2538 และทุกเดือนภาษีของปี 2540 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 18,842,387.39 บาท นั้น จำเลยยังมิได้มีการตรวจปฏิบัติการก่อนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์มาก่อน และโจทก์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันมากกว่า 500,000 บาท จำเลยจำเป็นต้องตรวจปฏิบัติการการเสียภาษีทุกประเภทของโจทก์ จึงได้ส่งเรื่องของโจทก์ให้ทีมตรวจสอบตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลและส่งให้ทีมตรวจสอบ 2 ตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งโจทก์ขอร้องให้ทำการตรวจปฏิบัติการที่สำนักงานของโจทก์ และจำเลยสั่งให้โจทก์ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมให้แก่จำเลย ซึ่งโจทก์ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2542 (ที่ถูกวันที่ 18 เมษายน 2546) และจำเลยพิจารณาคืนภาษีให้แก่โจทก์โดยออกหนังสือแจ้งการคืนภาษีทั้งสิ้น 18,842,387.39 บาท และดอกเบี้ย 753,695.48 โดยจำเลยพิจารณาให้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 วรรค 3 จำเลยคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันที่โจทก์ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วน (วันที่ 18 เมษายน 2546) จนถึงวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งคืนภาษีและดอกเบี้ย คือวันที่ 27 มิถุนายน 2546 ซึ่งการแจ้งคืนภาษีและดอกเบี้ยดังกล่าวเกิดจากการเข้าใจข้อกฎหมายผิดพลาดและไม่ถูกต้อง เมื่อจำเลยพิจารณากฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) แล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเนื่องจากข้อ 2 วรรค 1 และ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ระบุว่าการคิดดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรจะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้ และผู้ยื่นต้องนำเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปแสดงเพื่อพิสูจน์ด้วย ดังนั้น โจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนภาษีอากรภายในเวลาที่กำหนด และโจทก์จะต้องแนบเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปแสดงต่อเจ้าพนักงานเพื่อพิสูจน์ว่าได้เสียภาษีอากรเกินไปด้วย แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) เพิ่มเติมเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมที่โจทก์ยื่นไว้นั้นมีการขอคืนภาษีอยู่ด้วย ซึ่งแม้เป็นการขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้นตามมาตรา 84/1 ก็ตาม แต่เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 83 จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามมาตรา 84/3 ประกอบมาตรา 4 ทศ จำเลยจึงมีหนังสือขอให้โจทก์นำส่งดอกเบี้ยจำนวน 753,695.48 บาท ที่พิจารณาให้แก่โจทก์มาตั้งแต่ต้นคืน เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีคืนดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยจำนวน 8,153,090.13 บาท ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากศาลฟังว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินภาษีคืน การคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ตามฟ้องยังไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างที่เจ้าพนักงานของจำเลยมีคำสั่งเรียกให้โจทก์ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ มาเพื่อตรวจสอบในการขอคืนภาษีของโจทก์จึงต้องระงับการคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาที่ผู้ขอคืนภาษีขอขยายเวลาส่งเอกสารจนถึงวันที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 วรรค 3 ซึ่งตามข้อเท็จจริงเจ้าพนักงานของจำเลยได้ออกหมายเรียกให้โจทก์ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพื่อตรวจสอบเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2544 โจทก์นำส่งเอกสารหลักฐานให้จำเลยตรวจสอบครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ต่อมาด้วยความเข้าใจผิดข้อกฎหมายของจำเลยเกี่ยวกับกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) จึงมีคำสั่งอนุมัติจ่ายดอกเบี้ยในวันที่ 27 มิถุนายน 2546 โดยจำเลยได้แจ้งหนังสือคืนภาษีจำนวน 18,842,387.39 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ส่งเอกสารครบถ้วน (18 เมษายน 2546) จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2546 เป็นจำนวนดอกเบี้ยทั้งสิ้น 753,695.48 บาท ให้แก่โจทก์ไปแล้ว ดังนั้น หากฟังว่าโจทก์จะได้รับดอกเบี้ย ดอกเบี้ยนั้นต้องคิดนับจาก 3 เดือน หลังจากยื่นคำร้องขอคืนภาษีแต่ละครั้ง หากจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจะต้องนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนจนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานของจำเลยออกหมายเรียกให้โจทก์ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพื่อตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 4,118,842 บาท มิใช่คิดถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2546 เพราะดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ส่งเอกสารครบถ้วน (18 เมษายน 2546) จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2546 นั้นโจทก์ได้รับไว้แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อีก 4,118,842 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืนหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนภาษีที่ขอคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ข้อ 2 นั้น เห็นว่า ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 2 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้” กรณีของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรกภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสิทธิของโจทก์ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 84 ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมนี้กฎหมายมิได้กำหนดกรอบเวลาไว้ เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมดังกล่าวภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้นตามมาตรา 84/1 (1) จึงถือว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืน ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 ด้วย จึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนั้น เป็นการขยายความกฎหมายให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรซึ่งไม่ชอบ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งสั่งการคืนเงินภาษีอากรผิดพลาดและศาลภาษีอากรกลางยกคำขอนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรให้เพิกถอนหนังสือแจ้งสั่งการคืนเงินภาษีอากรผิดพลาดด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการสั่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาดเลขที่ กค 0710.01/6.3/4488 – 4504 ลงวันที่ 5 กันยายน 2546 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share