คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่ผู้อุทธรณ์นำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 มิใช่เป็นการวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีในศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวยังเป็นของผู้อุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนที่โจทก์จะยื่นคำแถลงขอรับเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยวางไว้ กรณีจึงต้องถือว่าเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยวางไว้เป็นทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอรับไปจากศาลชั้นต้น คงมีสิทธิเพียงยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,013,699.10 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกา
ศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนฎีกา คืนค่าขึ้นศาลให้สามในสี่ส่วน จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2545 ขอรับเงินค่าธรรมเนียม ซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาที่จำเลยนำมาวางไว้ต่อศาล
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำแถลง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมกับได้นำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 301,670 บาท มาวางศาล ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกา อ้างว่าโจทก์และจำเลยสามารถตกลงกันได้ โดยโจทก์ไม่ติดใจและสละสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และสิทธิเรียกร้องใดๆ ในอนาคตแก่จำเลย โดยโจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามแบบคำขอรับชำระหนี้ที่ได้ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินและโจทก์ตกลงที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดสรรเงินคืนตามที่กำหนดไว้ในแบบคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าว และคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้มีมติอนุมัติตามที่โจทก์ประสงค์แล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังยื่นคำแถลงขอถอนการบังคับคดี อ้างว่าโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากจำเลยได้รับแจ้งจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากจำเลย โดยจะได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อโจทก์ได้ถอนฟ้องหรือถอนการบังคับคดีแล้ว โจทก์ประสงค์จะรับชำระหนี้จากจำเลยตามขั้นตอนการจัดสรรเงินดังกล่าว จึงไม่ติดใจและสละสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และสละสิทธิเรียกร้องใดๆ ในอนาคตแก่จำเลย เว้นแต่การใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน และสิทธิการรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนฎีกา ครั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2545 โจทก์ยื่นคำแถลงขอรับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาที่จำเลยนำมาวางไว้ต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อม ในวันนัดพร้อมเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยได้แถลงคัดค้านว่า โจทก์ได้ถอนการบังคับคดีแล้วจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว และจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2545 อำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยจึงตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดก่อนโจทก์ยื่นคำขอรับเงิน อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยจึงตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงไม่อนุญาตให้โจทก์รับเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว เห็นว่า เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่ผู้อุทธรณ์นำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 นั้น เป็นเพียงเงินที่วางไว้เพื่อเป็นประกันว่าหากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมที่ได้ออกใช้ก่อนจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ หาใช่เป็นการวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีในศาลชั้นต้นไม่ จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวยังเป็นของผู้อุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำแถลงขอรับเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยวางไว้ กรณีจึงต้องถือว่าเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยวางไว้เป็นทรัพย์สินอันลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (1) เมื่อถือเป็นทรัพย์สินตามมาตรา 109 (1) ดังกล่าวแล้วโจทก์จึงหามีสิทธิที่จะขอรับไปจากศาลชั้นต้นไม่ คงมีสิทธิเพียงยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 เมื่อกรณีเป็นไปตามที่วินิจฉัยมา ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่โจทก์ยื่นคำแถลงขอถอนการบังคับคดีจะเป็นการสละสิทธิในการบังคับเอาแก่ค่าธรรมเนียมดังกล่าวหรือไม่อีกต่อไป”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share