คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนการค้าประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 1 ไว้และทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคาร ก. หลายครั้งหลายช่วงเวลาและการซื้อขายไม่มีการส่งมอบเงินตราต่างประเทศระหว่างกันหรือส่งเงินตราไปนอกราชอาณาจักร โจทก์มีรายรับอันเป็นกำไรจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการเป็นปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าจากกำไรอันเกิดจากการประกอบการค้าดังกล่าวตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ให้โจทก์เสียภาษีการค้าประเภท 12 ชนิด 2
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 2 หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดและได้จดทะเบียนการค้าประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 1 ไว้ เมื่อวันที่10 เมษายน 2528 โจทก์ได้กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฮ่องกงจำนวน 28 ล้านฟรังก์สวิส และโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ การซื้อขายไม่มีการส่งมอบเงินตราต่างประเทศระหว่างกันหรือส่งเงินตราไปนอกราชอาณาจักร โจทก์มีรายรับอันเป็นกำไรจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในปี 2528 เป็นเงิน 28,061,419.02 บาทในปี 2529 เป็นเงิน 808,687.80 บาท เห็นว่า การที่โจทก์ทำการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคารหลายครั้งหลายช่วงเวลาเช่น ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ประกอบกับโจทก์ได้จดทะเบียนการค้าประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 1 ตามเอกสารหมาย ล.8 แผ่นที่ 67เช่นนี้ ถือได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการเป็นปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากกำไรอันเกิดจากการประกอบการค้าดังกล่าวตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 2ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีภาระผูกพันจะต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศชำระหนี้ สามารถซื้อเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าได้ โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้านั้นเห็นว่า แถลงการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมเงินตราต่างประเทศที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา สามารถซื้อเงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาล่วงหน้าและชำระด้วยเงินสกุลอื่นนอกเหนือจากเงินบาทได้เท่านั้น หามีผลทำให้หน้าที่ในการเสียภาษีการค้าดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรเปลี่ยนแปลงไปไม่…”
พิพากษายืน.

Share