แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยออกเช็คก่อนมี พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 สั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์ใน วันที่ 31 ธันวาคม 2497 แต่เมื่อมี พ.ร.บ. นี้แล้วก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ออกเช็คผิดเงื่อนไขตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ถอนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนออกจากบัญชี หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้น โดยเจตนาทุจริตภายหลัง เช่นนี้ จำเลยก็ยังไม่มีผิดตาม พ.ร.บ.นี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่ ๒๕ ถึง ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๗ เวลากลางวัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทยจำกัด เลขที่ ก.๕๘๗๒๔๗ จ่ายเงิน ๓๒,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์หรือผู้ถือในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๗ โดยจำเลยยืนยันต่อโจทก์ว่าจำเลยมีเงินฝากไว้ในธนาคารดังกล่าว ครั้งมกราคม ๒๔๙๘ โจทก์มอบเช็คนั้นให้ผู้มีชื่อไปเข้าบัญชีธนาคาร เมอร์เกลไตล์ แห่งอินเดีย แต่เช็คถูกส่งคืน โดยอ้างว่าลายเซ็นต์ผู้สั่งจ่ายไม่เรียบร้อย การที่จำเลยเซ็นต์ผิดตัวอย่าง เป็นวิธีการที่จำเลยทำขึ้นป้องกันมิให้ธนาคารจ่ายเงิน ซึ่งจำเลยรู้แล้วว่าไม่มีเงินในธนาคาร ทำให้โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงิน ให้จำเลยไป จึงฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลย ตาม ก.ม.อาญา มาตรา ๓๐๔, ๔๓ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน.
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ชี้ขาดมา จำเลยจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือไม่นั้น เห็นว่านับแต่วัน พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ออกเช็คผิดเงื่อนไข มาตรา ๓ อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ถอนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน ออกจากบัญชี หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต จึงไม่มีผิดตามฟ้องโจทก์ จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง.