คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ได้ออกเงินทดรองไปให้จำเลย ๆ ปฏิเสธดังนี้ โจทก์มีหน้าที่นำสืบ เมื่อสืบไม่สมโจทก์ก็ต้องแพ้
โจทก์ฟ้องเรียกเงินทดรองที่ออกแทนจำเลย เมื่อปรากฎว่าเงินจำนวนนี้เป็นจำนวนเดียวกับในคดีที่โจทก์จำเลย ได้ว่ากล่าวกันจนคดีถึงที่สุดแล้วดังนี้เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์จะรื้อร้องฟ้องอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เนื่องจากโจทก์ได้รับเป็นตัวแทนค้าต่างยาสูบของโรงงานยาสูบกรมสรรพสามิตต์ประจำจังหวัดนครนายก โจทก์จำเลยจึงได้ทำสัญญาดำเนินการค้ายาสูบนี้ร่วมกัน โดยจำเลยตกลงเป็นผู้ออกทุนสั่งซื้อยาสูบทั้งหมดแต่ผู้เดียว เมื่อได้ผลประโยชน์แล้วแบ่งกำไรกันตามสัญญาท้ายฟ้อง บางครั้งจำเลยไม่มีทุนออก โจทก์ต้องออกเงินทดรองให้ในการสั่งยาสูบรวม ๓ ครั้งเป็นเงิน ๒๓,๓๐๐ บาท จำเลยยังไม่ได้คืน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้และเพิ่มเติมคำให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้มอบทุนให้โจทก์พอเพียงแก่การหมุนเวียน ในการซื้อบุหรี่มาจำหน่ายจำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ดังกล่าว การที่เงินไม่พอเพราะโจทก์เอาไปหมุนทางอื่น จนกระทั่งเงินปันผลก็ยังค้างจ่ายให้จำเลย และเมื่อคิดบัญชีครั้งสุดท้าย โจทก์กลับเป็นหนี้จำเลยซึ่งจำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ไว้แล้วตามสำนวนคดีแพ่งดำที่ ๙๖๑/๒๔๙๑ โจทก์ฟ้องแก้เกี้ยวและตัดฟ้องว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ฟังไม่ได้ จำเลยนำสืบได้โดยปราศจากความเคลือบคลุมสงสัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาคัดค้านว่า (๑) ตามสัญญาโจทก์ไม่มีหน้าที่ออกทุน เงินที่โจทก์ออกไปนี้จึงเป็นการออกทดรองให้จำเลยเป็นส่วนตัว (๒) การคิดบัญชีหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยในคดีแพ่งดำที่ ๙๖๑/๒๔๙๑ นั้น จะนำมาใช้ในคดีนี้ไม่ได้ เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จ่ายแทนจำเลยไม่เกี่ยวกับเงินระหว่างหุ้นส่วน (๓) โจทก์ไม่ได้นำเงินที่ฟ้องในคดีนี้ไปฟ้องแย้งในคดีแพ่งดำที่ ๙๖๑/๒๔๙๑ เพราะขณะนั้นยังค้นเอกสารหมายเลข ๑ ไม่ได้ เมื่อค้นพบก็นำมาฟ้อง และ (๔) ที่จำเลยนำสืบว่าเงินที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นค่าอะไรและจำหน่ายไปอย่างไรนั้น จำเลยนำสืบเกี่ยวกับการกระทำระหว่างจำเลยกับนายประยงค์จะนำมาผูกมัดโจทก์ไม่ได้ทั้ง เป็นเงินคนละประเภทกัน จำเลยไม่พ้นความรับผิด
เบื้องต้นศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วนค้าบุหรี่กันทั้งที่นครนายกและปราจีนบุรี ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ปราจีนบุรีที่จำเลยอ้างมาในคดีนี้
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ข้อ (๑) โจทก์จำเลยต่างเบิกความยันกันปากต่อปากและตามเอกสารที่โจทก์อ้างก็ลงไว้แต่ว่า
” สวัสดิ์รับจาก ผ.จ.ก. ” ไม่ปรากฎว่าจำเลยรับเงินทั้ง ๓ จำนวนนี้ไว้จากโจทก์ในฐานะอะไรและเพื่อทำอะไรดังนี้ฟังว่าโจทก์ซึ่งมีหน้าที่สืบก่อนสืบได้สมคำกล่าวอ้างของตนว่าเงินนั้นเป็นเงินทดรอง ซึ่งตนได้จ่ายให้จำเลยไปยังไม่ได้
ฎีกาข้อ (๒) เมื่อฟังไม่ได้ว่า เงินที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นเงินที่โจทก์จ่ายทดรองให้แก่จำเลยเป็นส่วนตัวก็ต้องถือว่าเงินนั้นจ่ายไปในกิจการของหุ้นส่วนซึ่งอาจนำมาคิดหักกันได้
ฎีกาข้อ (๓) เห็นว่าถ้าโจทก์ให้ออกเงินทดรองให้แก่จำเลยไปจริง แม้จะหาเอกสารไม่พบอย่างน้อยโจทก์ก็ควรจะได้กล่าวถึงเงิน ๓ จำนวนนี้ในคดีดำที่ ๙๖๑/๒๔๙๑ การที่โจทก์มิได้โต้แย้งไว้ทั้ง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่จำเลยอ้างเป็นหลักฐานในคดีที่ศาลแพ่งนั้น ย่อมแสดงว่าการคิดบัญชีระหว่างโจทก์จำเลย ในคดีนั้นได้คิดรวมทั้งเงิน ๓ จำนวนนี้ด้วย
ฎีกาข้อ (๔) ปรากฏว่านายประยงค์เป็นสมุหบัญชีของบริษัทจังหวัดปราจีนบุรีอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลย และได้ทำบัญชีเงินเกี่ยวค้างระหว่างโจทก์จำเลยขึ้นตามคำขอร้องของโจทก์เอง ฉะนั้นโจทก์จะปฏิเสธการกระทำของนายประยงค์ก็ย่อมไม่ชอบ
เงิน ๓ จำนวนในคดีนี้โจทก์จำเลยได้นำมาคิดบัญชีหักหนี้สินกัน และจำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ ๙๖๑/๒๔๙๑ จนศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จะนำเงิน ๓ จำนวนนี้มารื้อฟื้นเรียกร้องอีกไม่ได้
พิพากษายืน

Share