คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3584/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 3 ปี ส่วนความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 43 (4) , 157 ซึ่งเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยไว้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเพียงแต่ปรับบทความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกซึ่งเป็นความผิดที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง กับแก้โทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้เบาลงจากจำคุก 3 ปี เหลือเพียงจำคุก 1 ปี จึงนับเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อยเท่านั้น คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ , ๑๕๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ให้จำคุก ๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๑๕๗ ด้วย การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๒ ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ จำคุก ๓ ปี ส่วนความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา ๔๓ (๔) , ๑๕๗ ซึ่งเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ นั้น ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยไว้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเพียงแต่ปรับบทความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกซึ่งเป็นความผิดที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง กับแก้โทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายให้เบาโทษลงจากจำคุก ๓ ปี เหลือเพียงจำคุก ๑ ปี จึงนับเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อยเท่านั้น คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตร ๒๑๘ วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค ๕ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลย.

Share