แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในฐานะผู้ซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์ผู้ได้สิทธิการเช่าจากรัฐจริง ซึ่งการโอนสิทธิการเช่านี้แม้มิได้ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย แต่ข้อห้ามมิให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิการเช่าโอนสิทธิการเช่าไปยังบุคคลอื่นตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 19 (8) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ย่อมมีผลให้โจทก์ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้โอนสิทธิการเช่าต้องสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทันทีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นตามข้อ 11 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4361, 13577 ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดินโฉนดเลขที่ 4361 และเลขที่ 13577 ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาท 2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 4361 และเลขที่ 13577 ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่โจทก์เป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่าจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าเช่าตามใบเสร็จรับเงิน และนำที่ดินพิพาทไปขอแปลงสินทรัพย์เป็นทุน แต่มีจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยโจทก์อ้างว่า จำเลยเข้าทำประโยชน์โดยได้รับอนุญาตจากนายจันทร์ บิดาโจทก์ ส่วนจำเลยอ้างว่า นายจันทร์เป็นผู้ถือครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะหัวหน้าครอบครัว เพียงแต่ให้โจทก์มีชื่อเป็นผู้เช่าในสัญญาเช่าจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราเท่านั้น นายจันทร์ขายสิทธิการเช่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้นางบุญชู มารดาจำเลย โดยการส่งมอบการครอบครองตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งการขายสิทธิดังกล่าวเป็นการขัดต่อระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีผลให้โจทก์สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททันทีตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้ทำเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 ข้อ 11
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยเป็นผู้ซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุกแก่จำเลยในศาลชั้นต้น ในขณะเดียวกันจำเลยก็ร้องเรียนต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีที่โจทก์โอนขายสิทธิการเช่าให้มารดาจำเลยด้วย ที่โจทก์อ้างว่านางบุญชู มารดาจำเลย มาขออาศัยสิทธิโจทก์อยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์มีนางประทุม นายชัชวาล และนางบรรจบ มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่าเป็นผู้รู้เห็นขณะนายจันทร์ บิดาโจทก์เจรจาตกลงยินยอมให้นางบุญชู มารดาจำเลยอาศัยสิทธิปลูกบ้านในที่ดินพิพาทเป็นการชั่วคราวนั้น ไม่ปรากฏว่าพยานบุคคลทั้งสามปากเคยให้การในข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนคดีอาญา หรือต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริงมาก่อนแต่อย่างใด ทั้งที่พยานบุคคลทั้งสามปากถือเป็นประจักษ์พยานที่มีความสำคัญต่อการพิสูจน์พยานหลักฐานของโจทก์ การที่พยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวเพิ่งมาเบิกความในข้อสาระสำคัญอันเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในชั้นศาล ทั้งยังปรากฏว่านางประทุมและนายชัชวาลมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นผู้ร่วมลงทุนเลี้ยงกุ้งกับโจทก์ ส่วนนางบรรจบเป็นพี่สาวของโจทก์ จึงน่าเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวเป็นพยานที่มาเบิกความช่วยเหลือโจทก์ มิได้รู้เห็นข้อเท็จจริงตามที่เบิกความแต่อย่างใด คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากจึงขาดน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์นั้น แม้จะไม่มีหลักฐานการซื้อขายสิทธิการเช่ามาแสดงเป็นหลักฐาน แต่จำเลยก็มีนายเชื่อม ซึ่งเป็นญาติของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นพยานคนกลางและเป็นประจักษ์พยานเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า เป็นผู้รู้เห็นขณะนางบุญชูจ่ายเงิน 100,000 บาท แก่นายจันทร์เป็นค่าซื้อขายสิทธิการเช่า โดยนายจันทร์ บิดาโจทก์บอกขายสิทธิการเช่าให้แก่นายเชื่อมก่อน แต่นายเชื่อมบอกปฏิเสธเพราะไม่มีเงินซื้อ นายจันทร์จึงไปขายให้นางบุญชู มารดาจำเลยสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำของนายเชื่อมที่ได้ให้ไว้ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดว่านายเชื่อมเป็นผู้ติดต่อให้มีการซื้อขายสิทธิในที่ดินระหว่างนายจันทร์กับนางบุญชู และเป็นผู้รู้เห็นการจ่ายเงินค่าซื้อสิทธิการเช่า 100,000 บาท และในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายเชื่อม ซึ่งได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ก่อนแล้ว ทั้งที่มาแห่งการขายสิทธิการเช่าที่จำเลยอ้างว่าสืบเนื่องจากนายจันทร์ต้องการเงิน 100,000 บาท ไปคืนให้แก่นายประเทือง ผู้ขอยกเลิกการซื้อสิทธิการเช่ารายแรกเพราะไม่สามารถโอนเปลี่ยนชื่อผู้เช่าสิทธิให้แก่นายประเทืองได้นั้น จำเลยก็มีนายประเทืองมาเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงส่วนนี้ซึ่งสอดคล้องตรงกับบันทึกถ้อยคำชั้นสอบสวนข้อเท็จจริงที่นายประเทืองให้ไว้ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะรับฟังเป็นเหตุเป็นผลกันแล้วยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาของนายจันทร์ที่ต้องการขายสิทธิการเช่าถึง 2 ครั้ง พร้อมทั้งเหตุจำเป็นที่มีการขายสิทธิการเช่าให้แก่นางบุญชู มารดาจำเลยในที่สุดด้วย เชื่อมโยงสอดรับกับที่นายจันทร์ยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวให้ออกหนังสือรับรองว่านายจันทร์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนางช่วง มารดานางบุญชูเพื่อนำไปใช้ในการโอนที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อนำไปประกอบเป็นหลักฐานขอโอนสิทธิการเช่าเป็นชื่อของนางบุญชู มารดาจำเลย อันเป็นข้อสนับสนุนว่านายจันทร์มีเจตนาโอนขายสิทธิการเช่าจริงจึงได้พยายามขวนขวายดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้ผู้ซื้อสิทธิได้ไปซึ่งการโอนสิทธิการเช่าโดยชอบ และเมื่อพิจารณารูปถ่ายบ้านที่จำเลยปลูกบนที่ดินพิพาทที่มีลักษณะมั่นคงถาวรประกอบด้วยแล้ว ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนอย่างเป็นเจ้าของสิทธิมากกว่าเป็นเพียงผู้อาศัยสิทธิผู้อื่นเป็นการชั่วคราวเท่านั้น การที่จำเลยไปยื่นคำขอหมายเลขทะเบียนบ้านเมื่อใด จึงหาเป็นข้อพิรุธหรือเป็นข้อสำคัญแต่อย่างใด และเมื่อนางบุญชู มารดาจำเลยกับจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยการปลูกบ้านพักอาศัยและทำการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2534 โดยมีพยานหลักฐานที่รับฟังได้ว่านายจันทร์ บิดาโจทก์ขายสิทธิการเช่าให้มารดาจำเลย และมีพฤติการณ์ที่รับฟังได้ว่าจำเลยเจตนายึดถือเพื่อตนอย่างเป็นผู้รับโอนสิทธิการเช่าตลอดมา โดยโจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จึงต้องถือว่าจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในฐานะผู้ซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์ผู้ได้สิทธิการเช่าจากรัฐจริง ซึ่งการโอนสิทธิการเช่านี้ดังที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรามีความเห็น แม้มิได้ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย แต่ข้อห้ามมิให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิการเช่าโอนสิทธิการเช่าไปยังบุคคลอื่นตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 19 (8) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อ 11 (2) ย่อมมีผลให้โจทก์ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้โอนสิทธิการเช่าต้องสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทันทีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นตามข้อ 11 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย และเป็นเรื่องที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทราบ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ