คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น การที่ผู้ค้ำประกันจำต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมต้องชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันเอง ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินของผู้ค้ำประกัน จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งผู้ร้องมีอำนาจขอให้เพิกถอน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 ลูกหนี้ที่ 3 ยื่นคำแถลงขอให้ผู้ร้องเพิกถอนการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5281 ตำบลในเมือง (ประทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างลูกหนี้ที่ 2 และห้างหุ้นส่วนจำกัด เนวาด้าอินน์อุบลราชธานี แต่จากการสอบสวนของผู้ร้องตามคำแถลงของลูกหนี้ที่ 3 ดังกล่าวพบว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เนวาด้าอินน์อุบลราชธานี ต่อผู้คัดค้าน รวม 2 ฉบับ ในวงเงินฉบับละ 83,000,000 บาท และ 409,000 บาท การทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวระหว่างลูกหนี้ที่ 2 และผู้คัดค้านเป็นการกระทำที่ทำให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ 2 เสียเปรียบ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 และ 114
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาค้ำประกันระหว่างลูกหนี้ที่ 2 และผู้คัดค้านทำไปโดยสุจริต ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเจตนาที่จะทำให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ 2 เสียเปรียบ และสัญญาค้ำประกันมิได้เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติที่อาจขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันของลูกหนี้ที่ 2 กับผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ในวงเงิน 83,000,000 บาท และ 409,000 บาท ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง ส่วนค่าทนายความ ผู้ร้องว่าความเองจึงไม่กำหนดให้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ลูกหนี้ที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของห้างหุ้นส่วนจำกัด เนวาด้าอินน์อุบลราชธานี เดิมลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5281 ตำบลในเมือง (ประทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งลูกหนี้ที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้ต่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยและธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ห้างหุ้นส่วนจำกัด เนวาด้าอินน์อุบลราชธานี ทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้คัดค้าน เป็นเงิน 83,000,000 บาท เพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5281 ตำบลในเมือง (ประทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ของลูกหนี้ที่ 2 และที่ดินโฉนดเลขที่ 6364 ตำบลในเมือง (ประทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ของนางนงคราญ ในการทำสัญญากู้ดังกล่าว ลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เนวาด้าอินน์อุบลราชธานี ต่อผู้คัดค้านรวม 2 ฉบับ ในวงเงิน 83,000,000 บาท และ 409,000 บาท ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ลูกหนี้ที่ 2 ชำระหนี้เพื่อจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5281 ตำบลในเมือง (ประทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เป็นจำนวนเงิน 48,000,000 บาท และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 13,000,000 บาท และลูกหนี้ที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เนวาด้าอินน์อุบลราชธานีในราคา 70,000,000 บาท และห้างหุ้นส่วนจำกัด เนวาด้าอินน์อุบลราชธานี ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้เงินกู้ต่อผู้คัดค้าน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า สัญญาค้ำประกันเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าสัญญาค้ำประกันระหว่างลูกหนี้ที่ 2 กับผู้คัดค้านมิใช่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ได้นั้น เห็นว่า สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น การที่ผู้ค้ำประกันจำต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมต้องชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันเอง ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินของผู้ค้ำประกัน จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งผู้ร้องมีอำนาจขอให้เพิกถอน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ได้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share